โมเดลธุรกิจเกษตรแบบเกษตรกรรม (Agricultural Business Model)

by

— last updated:

first published:

landscape photo of beautiful terrace rice field in chiang mai thailand

หลังจากได้อ่าน Business Model ของธุรกิจเกษตร (Agribusiness) กลุ่มแรก คือ Business Model ที่มีเกษตรกรเป็นลูกค้า ไปแล้ว วันนี้มาทำความรู้จักธุรกิจเกษตรกลุ่มที่สองกันต่อ คือ การทำธุรกิจเกษตรด้วยการเป็นเกษตรกร หรือ การทำเกษตรกรรม (Agriculture) นั่นเอง ว่ามีอะไรบ้าง และมี Business Model ในรูปแบบใดได้บ้าง

1. ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) กลุ่มเกษตรกรรม (Agriculture) คืออะไร

ผู้เขียนได้แบ่งธุรกิจเกษตรออกเป็น 4 กลุ่ม ตามลักษณะของโมเดลธุรกิจ (Business Model) คือ

ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) คืออะไร: เราสามารถแบ่งธุรกิจเกษตรตามลักษณะของโมเดลธุรกิจ (Business Model) ออกได้เป็น 4 ประเภทหลัก ดังแสดงในภาพ โดยธุรกิจเกษตรกลุ่มที่สอง คือ การทำเกษตรกรรม (Agriculture)
ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) คืออะไร: เราสามารถแบ่งธุรกิจเกษตรตามลักษณะของโมเดลธุรกิจ (Business Model) ออกได้เป็น 4 ประเภทหลัก ดังแสดงในภาพ โดยธุรกิจเกษตรกลุ่มที่สอง คือ การทำเกษตรกรรม (Agriculture)
  • กลุ่มที่ 1: ขายของให้เกษตรกร ได้เขียนบันทีกแยกแล้ว อ่านได้ที่นี่
  • กลุ่มที่ 2: เป็นเกษตรกรเสียเอง คือ ธุรกิจเกษตรที่เขียนในบันทึกนี้
  • กลุ่มที่ 3: ซื้อของจากเกษตรกร (ยังไม่ได้เขียน)
  • กลุ่มที่ 4: อะไรที่สนับสนุน 3 อันข้างบน (ยังไม่ได้เขียน)

ดังนั้น ธุรกิจเกษตรในกลุ่มที่ 2 นี้ ก็คือ “ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าเกษตรในระดับฟาร์ม” หรือ พูดเป็นภาษาง่ายๆ ที่เราเข้าใจ ก็คือ การทำเกษตรกรรม (Agriculture) ด้วยการเป็นเกษตรกรนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชต่างๆ เช่น พืชสวน พืชไร่ หรือ การเลี้ยงสัตว์ หรือ การทำประมง เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฯลฯ

(ปล. อันที่จริงแล้ว ถ้าเราเรียกคนทำธุรกิจกลุ่มนี้ว่า เกษตรกร ทั้งหมด ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะเรามีชื่อเรียกเฉพาะ สำหรับคนทำธุรกิจกลุ่มนี้บางกลุ่ม เช่น ถ้าเขาทำธุรกิจจับสัตว์ทะเล เราเรียกเขาว่า ชาวประมง เป็นต้น แต่ในบทความขออนุญาตใช้ชื่อคนทำธุรกิจกลุ่มนี้ว่า เกษตรกร เพื่อความเข้าใจง่าย)

(ปล2. แนะนำให้อ่านเรื่องธุรกิจเกษตร (Agribusiness) คืออะไร จากบทความ ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) คืออะไร และ บทความเรื่อง โมเดลธุรกิจของธุรกิจเกษตร (Agribusiness Business Model) ของธุรกิจเกษตร รวมไปถึง เกษตรกรรม (Agriculture) คืออะไร ก่อนนะ)

2. ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) กลุ่มเกษตรกรรม (Agriculture) มีอะไรบ้าง

ถ้าเราจะจัดกลุ่มธุรกิจเกษตรกลุ่มที่สอง คือ เกษตรกรรม (Agriculture) ว่ามีอะไรบ้าง กี่ประเภท จะพบว่า….มันเยอะมากครับ

หน่วยงานต่างๆ จึงพยายามจัดกลุ่มประเภทธุรกิจเกษตร ตามการผลิตสินค้าทางการเกษตรที่หลากหลายกัน

เช่น ถ้าแบ่งโดยใช้เกณฑ์การกินได้ จะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ธุรกิจเกษตรที่ผลิตสินค้าเกษตรที่กินได้ กับ ธุรกิจเกษตรที่ผลิตสินค้าเกษตรที่กินไม่ได้

หรือ ถ้าใช้เกณฑ์ประเภทความแตกต่างของสินค้าหลักๆ อาจแบ่งได้เป็น ธุรกิจเกษตรกลุ่มพืช ธุรกิจกลุ่มสัตว์ เป็นต้น

แต่ใน sophony.co เราจะแบ่งกลุ่มธุรกิจเกษตร โดยอ้างอิงจาก การจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทย (Thailand Standard Industrial Classification) ที่เรียกย่อๆ ว่า TSIC (อ่านเพิ่มเติม TSIC คืออะไร)

ซึ่งมาตรฐาน TSIC เป็นมาตรฐานที่ใช้กับหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน รวมถึง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และ สำนักสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต่างก็ใช้ TSIC ในการคำนวนหมวดหมู่และคำนวน GDP ครับ

การแบ่งประเภทของธุรกิจเกษตรด้วย TSIC นี้ ผู้เขียนสรุปในบันทึก ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) มีกี่ประเภท ทั้งตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 แล้ว ผู้อ่านสามารถย้อนกลับไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้

โดยสรุป ธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ จะแบ่งออกได้ตั้งแต่ 1 ประเภทใหญ่ ไปจนถึงการแบ่งแบบละเอียด ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 106 ประเภท ตัวอย่างเช่น การปลูกผลไม้ตระกูลส้ม การปลูกต้นยางพารา การเลี้ยงแกะ การเลี้ยงผึ้ง การเก็บของป่า การจับปลาทะเล การเพาะเลี้ยงกุ้งน้ำจืด ฯลฯ

ทำให้ธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ มีความหลากหลายทั้งในด้านการบริหารจัดการ การเลือกกลุ่มลูกค้า การออกแบบโมเดลธุรกิจ ฯลฯ ซึ่งจะกล่าวถึงในส่วนถัดไปครับ

3. ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) กลุ่มเกษตรกรรม (Agriculture) น่าสนใจไหม

ธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่น่าสนใจเสมอ เพราะเป็นผู้ผลิตสินค้า ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของมนุษย์ คือ “อาหาร”

ดังนั้น ไม่ว่าจะขายเป็นสินค้าเกษตรเบื้องต้น หรือ นำไปแปรรูปเป็นอาหารอื่นๆ ก็จะเป็สินค้าที่มี Demand ทุกวัน เพราะเราก็ต้องกินทุกวันครับ ต่อให้ประชากรของประเทศไทยลดลง แต่มนุษย์โลกยังเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ

หรือ ถ้าไม่ได้ผลิตพืชที่เป็นอาหาร เช่น พืชพลังงาน หรือ กลุ่มพืชเส้นใย ก็ยังมีความน่าสนใจอยู่มากเช่นกัน เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นต่อมนุษย์แทบทั้งนั้น

นอกจากนี้ ธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ ยังเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องเกี่ยวกับการเงิน เช่น การยกเว้นภาษี การให้เงินช่วยเหลือด้านราคา การได้รับการอุดหนุนต้นทุนต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ การประกันราคา ฯลฯ

Business Model ของธุรกิจเกษตร (Agribusiness): กลุ่มเกษตรกรรม (Agriculture) ธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ มักได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นมาตราการให้เงินช่วยเหลือชาวนา เป็นต้น (ขอบคุณภาพจาก : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
Business Model ของธุรกิจเกษตร (Agribusiness): กลุ่มเกษตรกรรม (Agriculture) ธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ มักได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นมาตราการให้เงินช่วยเหลือชาวนา เป็นต้น (ขอบคุณภาพจาก : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

หรือ การสนับสนุนในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเงิน การอบรมให้ความรู้ต่างๆ ฟรี การได้เข้าร่วมการดูงานต่างๆ เป็นต้น

เรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจ ที่ได้ประโยชน์จากมาตรฐานช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นลำดับต้นๆ เลยครับ

ธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ ยังเป็นกลุ่มยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก เพราะมีการสร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการด้วยหลัก Value Proposition Design และ Business Model Innovation กับธุรกิจนี้น้อยมาก ทำให้ธุรกิจยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากครับ

4. โมเดลธุรกิจเกษตรแบบเกษตรกรรม (Agriculture Business Model)

เนื่องจากธุรกิจเกษตรกลุ่มเป็นเกษตรกรเองนี้ มีได้หลากหลายประเภทมาก รูปแบบการทำธุรกิจจึงแตกต่างกัน เช่น ธุรกิจการเลี้ยงแกะ ย่อมมีแนวทางการทำธุรกิจ และมีโมเดลธุรกิจแตกต่าง กับ ธุรกิจปลูกส้ม และแตกต่างกับ ธุรกิจประมงทะเล เป็นต้น

การเขียน Business Model เพื่อเป็นตัวแทนของของธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ จึงมีได้หลากหลายตามลักษณะธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ พอมีลักษณะบางอย่างใกล้เคียงกัน ที่เราพอจะเขียน Business Model แบบภาพรวมได้ ดังนี้

Business Model ของธุรกิจเกษตร: กลุ่มเกษตรกรรม (Agriculture) โดยมากจะเป็นการผลิตในฟาร์ม (Farm Business Model)
Business Model ของธุรกิจเกษตร: กลุ่มเกษตรกรรม (Agriculture) โดยมากจะเป็นการผลิตในฟาร์ม (Farm Business Model)

สินค้าและบริการ (Products & Services)

สินค้าและบริการของธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ จะเป็นสินค้าเกษตรที่เราผลิตเอง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตในฟาร์ม สำหรับกลุ่มพืช หรือ การเลี้ยงในฟาร์ม สำหรับกลุ่มเลี้ยงสัตว์ หรือ อาจเป็นการจับจากทะเล สำหรับกลุ่มประมงสัตว์ทะเล เป็นต้น

หลักสำคัญคือ สินค้าและบริการของธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ เรามีหน้าที่ในการผลิต ไม่ว่าจะเลี้ยงเอง ปลูกเอง หรือไปหามาเองจากธรรมชาติ ไม่ได้ไปซื้อต่อใครมา

กลุ่มลูกค้า (Customer Segments)

กลุ่มลูกค้า (Customer Segments) ของธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ จะเป็นผู้บริโภคทั่วไป หรือ พ่อค้าคนกลาง (ผู้รวบรวม) หรือ ผู้ที่ต้องการนำสินค้าเกษตรไปแปรรูปต่อ หรือ จะเป็นเกษตรกรกันเองก็ได้ ถ้าเค้าซื้อไปกินเอง หรือไปแปรรูปต่อ

แต่ว่า ลูกค้าของธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ จะไม่ใช่ “เกษตรกร” เหมือน ธุรกิจกลุ่มปัจจัยการผลิต ที่ตั้งเป้าทำธุรกิจ เพื่อขายเกษตรกรโดยเฉพาะ

พูดง่ายๆ ถ้าคุณทำธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ คุณเป็นลูกค้าของ ธุรกิจเกษตรกลุ่มแรกครับ!

คุณค่าที่นำเสนอ (Value Proposition)

คุณค่าที่นำเสนอ (Value Proposition) ของธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ จะเป็น คุณค่าจากสินค้าทางการเกษตร ที่เราผลิต เช่น เป็นกล้วยอินทรีย์ที่กินแล้วปลอดภัยต่อเด็ก เป็นปลาสดใหม่ปลอดจากสารพิษมาจากเรือประมงโดยตรง เป็นน้ำผึ่งป่าแท้เดือนห้าจากป่าธรรมชาติ ไร้มลพิษ เป็นต้น

ถ้าผู้บริโภคเป็นกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ผู้บริโภคโดยตรง เช่น ผู้รวบรวม ผู้แปรรูป คุณค่าที่นำเสนอ สามารถเป็น “สินค้าได้คุณภาพตามที่สั่งทุกล็อต” หรือ “สามารถส่งได้ตามจำนวนที่สั่งได้ตลอด” แม้ฟาร์มตัวเองไม่มี ก็จะหามาส่งได้เสมอ เป็นต้น

ช่องทาง (Channel)

ช่องทาง (Channel) สำหรับธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ โดยมากขึ้นอยู่กับลักษณะของกลุ่มลูกค้า เช่น ถ้าขายตรงให้ผู้บริโภค ช่องทางอาจเป็นการขายหน้าฟาร์ม หรือ มีแผงขายสินค้าในตลาด

อีกช่องทางหนึ่ง คือ การเชื่อมต่อจากเกษตรกรไปยังผู้บริโภคโดยตรงผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีหน่วยงานภาครัฐได้พัฒนาช่องทางออนไลน์สำหรับธุรกิจกลุ่มนี้ เช่น ตลาดเกษตรออนไลน์.com ที่พัฒนาโดย กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น

Business Model ของธุรกิจเกษตร (Agribusiness): แบบเกษตรกรรม (Agriculture) หน่วยงานภาครัฐพยายามส่งเสริมช่องทางออนไลน์ (Online Channel) เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายกับผู้บริโภคได้โดยตรง
Business Model ของธุรกิจเกษตร (Agribusiness): แบบเกษตรกรรม (Agriculture) หน่วยงานภาครัฐพยายามส่งเสริมช่องทางออนไลน์ (Online Channel) เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายกับผู้บริโภคได้โดยตรง

หากเป็นการขายให้ พ่อค้าคนกลาง หรือ ผู้แปรรูป อาจขายหน้าฟาร์ม โดยติดต่อกันทางโทรศัพท์ก่อน แล้วเขาเป็นคนมารับ หรือ เราต้องเป็นผู้จัดส่ง แล้วแต่จะตกลงกัน

ความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationships)

การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationships) จะเป็นการสร้างระหว่าง เกษตรกร กับ “กลุ่มลูกค้า” แต่ละประเภท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการซื้อซ้ำต่อเนื่อง

เช่น การเปลี่ยนสินค้าให้ลูกค้ากรณีไม่ได้มาตรฐาน การหาสินค้าจากฟาร์มอื่นมาส่งให้ กรณีสินค้าที่ฟาร์มขาดตลาด รวมไปถึง การให้ส่วนลดต่างๆ เป็นต้น

กระแสรายได้ (Revenue Stream)

กระแสรายได้ (Revenue Stream) ของธุรกิจกลุ่มนี้ มาจากการขายให้กับผู้บริโภคเป็นหลัก โดยหากเป็นการขายกับผู้บริโภคโดยตรง จะเป็นการ “ขายขาด” เกือบทั้งหมด

ส่วนกรณีขายให้กับผู้รวบรวม หรือ พ่อค้าคนกลาง หรือ ผู้แปรรูป อาจมีกระแสรายได้ในรูปแบบอื่นๆ เช่น การสร้างรายได้จาก Subscription Model โดยผู้ขายตกลงว่าจะส่งสินค้าให้ผู้ซื้อเดือนละเท่านั้นเท่านี้ โดยจ่ายเงินเป็นรายเดือน เป็นต้น

ทรัพยากรหลัก (Key Resources)

จุดแตกต่างของ ทรัพยากรหลัก (Key Resources) ธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ ที่แตกต่างจากธุรกิจอื่น คือ ทรัพยากรหลักจะเป็นทรัพยากรที่เกี่ยวเนื่องกับ “การผลิต (Production)” เช่น การมีที่ดินที่เหมาะสมปลูกพืช หรือ เป็นที่ดินที่เหมาะกับการเลี้ยงสัตว์บางชนิด หรือ การมีเจ้าของฟาร์มที่มีประสบการณ์สูงในการปลูกพืชชนิดนั้น

หรือ ธุรกิจเกษตรบางประเภทในกลุ่มนี้ เช่นกลุ่มที่ปลูกพืชโดยใช้เทคโนโลยี (Ag-Tech) จะมี Key Resources ที่แตกต่างจากคนอื่น เช่น การมีความเชี่ยวชาญการใช้เทคโนโลยีเฉพาะทางด้านการเกษตร เป็นต้น

กิจกรรมหลัก (Key Activities)

กิจกรรมหลัก (Key Activities) ของธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ จะเกี่ยวเนื่องกับการผลิต (Production) เป็นหลักเช่นกัน เช่น การดูแลผลผลิตให้มีคุณภาพทุกครั้ง หากเป็นการหาจากธรรมชาติ จะเป็นการควบคุมคุณภาพสินค้าที่หามา ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานของผู้ซื้อ หรือ การหาสินค้าให้ได้ตามที่ลูกค้าต้องการ เป็นต้น

สำหรับฟาร์มที่มีแนวคิดด้านผู้ประกอบการธุรกิจ จะมีกิจกรรมด้านการตลาดเพิ่มเติมได้ เช่น การสร้างแบรนด์ของฟาร์มให้เป็นที่รู้จัก หรือ การทำการตลาดกับผู้บริโภคโดยตรง เป็นต้น

พันธมิตรหลัก (Key Partners)

พันธมิตรหลักของธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้มีหลายกลุ่ม เช่น เป็นพันธมิตรกับหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่สนับสนุนทรัพยากรและความรู้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ฯลฯ

หรือ การเป็นพันธมิตรกับสมาคมที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน เพื่อรวมกลุ่มให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง รวมไปถึง สหกรณ์การเกษตรในพื้นที่

นอกจากนี้ พันธมิตรของธุรกิจเกษตรประเภทนี้ โดยมากจะเกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หรือ มหาวิทยาลัยชุมชนในพื่นที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏในพื้นที่ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านการผลิต รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เป็นต้น

โครงสร้างต้นทุน (Cost Structures)

ต้นทุนของธุรกิจเกษตรประเภทนี้ เช่นเดียวกับส่วนที่เป็น Operation อื่นๆ คือ จะมาจากการผลิต (Production) สินค้าเกษตรเป็นหลัก เช่น ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร ค่าแรงการผลิตสินค้าเกษตร

หรือ เป็นต้นทุนในการไปหาจากธรรมชาติ เช่น ค่าออกเรือประมง เป็นต้น

หากเป็นกรณี Smart-Farm จะมีต้นทุนเกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยีเพิ่มเติมเช่นกัน

ต้นทุนส่วนสำคัญของธุรกิจเกษตรประเภทนี้ คือ ต้นทุนที่เราต้องซื้อปัจจัยการผลิตจาก ธุรกิจเกษตรประเภทขายเกษตรกร นั่นเอง


จะเห็นว่า ถึงแม้ธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้จะหลากหลายมาก แต่มีลักษณะบางส่วนที่ใกล้เคียงกัน ก็คือ ธุรกิจที่ทำ จะเป็นกระบวนการให้ได้มาซึ่งสินค้าเกษตรด้วยตัวเอง เช่น ปลูกเอง เลี้ยงเอง ไปหามาเอง ไม่ได้ไปซื้อต่อใครมา

ทำให้โมเดลธุรกิจส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินงาน เช่น Key Resources, Key Activities รวมไปถึง Cost Structures จะมีลักษณะใกล้เคียงกัน คือ เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตเป็นหลักครับ

5. Business Model Innovation กับธุรกิจเกษตร (Agribusiness) กลุ่มเกษตรกรรม (Agriculture)

Business Model Innovation คือการปรับโมเดลธุรกิจปัจจุบัน (as is) สู่ โมเดลธุรกิจที่อยากเป็น (to be)
Business Model Innovation คือการปรับโมเดลธุรกิจปัจจุบัน (as is) สู่ โมเดลธุรกิจที่อยากเป็น (to be)

ถ้าทำ Business Model Innovation คือการ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจปัจจุบัน เพื่อให้ธุรกิจดีขึ้น ซึ่งธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ สามารถปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจได้หลายด้าน ตัวอย่างเช่น

การปรับเปลี่ยน Customer Segments

การเน้นลูกค้าผู้บริโภคกลุ่ม Micro Segmentation (อ่าน Micro Segmentation คืออะไร) เป็นจุดที่เกษตรกรสามารถทำได้ เช่น แทนที่จะขายปลาให้คนทั่วไป ก็ขายปลาให้ผู้ป่วยที่พึ่งพื้นฟูร่างกายหลังผ่าตัด หรือ ขายปลาให้ผู้ปกครองเด็กอนุบาล ที่แยกก้างปลาเองไม่ได้ เป็นต้น

การขายให้กลุ่มลูกค้าที่ยังไม่เป็นลูกค้า หรือ Non Customer (อ่าน Non Customer คืออะไร) ก็เป็นอีกจุดที่ธุรกิจเกษตรสามารถทำ Business Model Innovation ได้ เช่น การหาวิธีสร้างรายได้จากทุเรียนจากคนไม่กินทุเรียน หรือ ขายเนื้อ ให้คนไม่ทานเนื้อ ขายผัก ให้คนไม่ทานผัก

การปรับเปลี่ยน Value Proposition

การออกแบบคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ ที่ยังไม่มีคู่แข่งคนไหน เคยสร้างคุณค่าในจุดนั้นมาก่อน เช่น หรือจะสร้างคุณค่าเพื่อตอบ Job to be Done ของผู้บริโภคที่ต้องการพลังงานแบบด่วนๆ เช่น นักวิ่งมาราธอน แต่ไม่พร้อมพกกล้วยสุกวิ่งไปด้วย

หรือ การขายสินค้าที่แก้ Pain Point ของผู้สูงอายุที่กินอะไรแข็งๆ ไม่ได้ แบบ ที่กินได้ก็ไม่อร่อย ที่อร่อยก็กินไม่ได้

หรือ การขายสินค้า เพื่อตอบ Gain ที่ผู้บริโภคต้องการ เช่น อยากกินน้ำมะพร้าวสดๆ เย็นๆ จากลูกมะพร้าวเลย แบบซื้อแล้วกินได้เลยเหมือนซื้อน้ำใน 7-11 ได้ไหม

การปรับเปลี่ยน Channels

เช่น การปรับช่องทางการขาย เป็นการส่งให้ลูกค้าตาม Line Group ของหมู่บ้าน แทนการขายหน้าร้าน หรือ การขายแบบ B2B โดยไปจัดส่งให้ลูกค้ากลุ่มเฉพาะ ถึงที่ เป็นต้น


ยกตัวอย่าง การทำ Business Model Innovation สำหรับธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ให้ดู 3 เรื่อง แต่เรื่อง Business Model Innovation ในธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ ยังทำได้อีกมาก ไว้ค่อยเล่าในบันทึกหลังๆ นะครับ

636363636363636363636363

อ่านมาถึงตรงนี้ก็ต้องขอบคุณผู้อ่านทุกคนมาก ถ้าอยากอ่านเรื่อง Business Model และ Business Model Innovation ใน ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) รวมไปถึงการออกแบบคุณค่า (Value Proposition Design) และนวัตกรรมโมเดลธุรกิจ (Business Model Innovation) ให้กับธุรกิจเกษตรและธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติม สามารถอ่านได้จากหน้าสารบัญ

หากผู้อ่านอยากรู้เรื่อง การออกแบบโมเดลธุรกิจ (Business Model Design) ให้กับ ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) แบบลึกซึ้ง สามารถติดต่อผู้เขียนเรื่องฝึกอบรมหรือการทำ workshop ได้ โดยสามารถดูรายละเอียดช่องทางการติดต่อผู้เขียนได้ที่ About ครับ


โสภณ แย้มกลิ่น (Sophon Yamklin) Avatar