ผู้อ่านเคยสงสัยไหมว่า ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมทั้งหมด กี่ประเภท อะไรบ้าง จัดหมวดหมู่กันอย่างไร วันนี้ผู้เขียนมาเล่าถึงการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือเรียกตัวย่อภาษาอังกฤษว่า TSIC ว่าคืออะไร มีไว้ทำไม แล้วเอาไปใช้ประโยชน์อะไรบ้าง
(ปล. บันทึกนี้แรกเริ่มผู้เขียนต้องการเขียนประเภทของธุรกิจเกษตร (อ่าน ธุรกิจเกษตร Agribusiness คืออะไร) ซึ่งถ้าใส่ TSIC ไว้ในบันทึกนั้นด้วยจะยาวมาก จึงคิดว่าควรเขียนบันทึกแยกเรื่อง TSIC ออกมาเลยดีกว่า)
1. TSIC คืออะไร
TSIC มาจากคำเต็มว่า Thailand Standard Industrial Classification แปลเป็นภาษาไทยว่า “การจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศไทย” ดังนั้น TSIC คือ การจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศไทยนั่นเองครับ
หน่วยงานที่รับผิดชอบในการออกรายงาน TSIC คือ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน โดยออกรายงาน TSIC ฉบับล่าสุดคือ ปี 2552 ครับ และมีหน่วยงานที่นำรายงานฉบับ 2552 มาปรับปรุง คือ สำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2553
ปัจจุบันขณะเขียนบันทึกนี้ คือ ปี 2566 ก็ยังใช้ตามมาตรฐานปี 2552 อยู่ ถามว่าทำไมไม่มีฉบับที่ใหม่กว่านี้ เดี๋ยวมาฟังคำตอบกัน
(ล่าสุด ประเทศไทยกำลังจะมีรหัส TSIC ฉบับใหม่แล้วครับ อ่านเพิ่มเติมที่ –> รหัส TSIC ฉบับปี 2567 – 2568)
2. TSIC มีหน้าที่อะไร
TSIC มีหน้าที่หลัก คือ การแบ่งประเภทอุตสาหกรรมในประเทศไทยเป็นหมวดหมู่อย่างเป็นมาตรฐาน ว่าประเทศไทยมีทั้งหมดกี่อุตสาหกรรม อะไรบ้าง เพื่อหน่วยงานต่างๆ จะได้นำไปใช้ประโยชน์กันต่อไป
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราจะจดทะเบียนธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เค้าจะถามเราว่า บริษัทคุณทำธุรกิจอะไร? ซึ่งเค้าจะให้เราอ้างอิงจากรหัสธุรกิจจาก TSIC นี่แหละ
เช่น ฉันเปิดร้านขายเสื้อผ้าออนไลน์ รหัสธุรกิจที่ต้องใส่คือ 47912 ซึ่งแต่ละตัวเลขมีที่มาทั้งสิ้น
หรือกรมโรงงานอุตสาหกรรม ก็อ้างอิงรหัสประเภทโรงงานอุตสาหกรรมจาก TSIC
หรือ การจัดกลุ่มสินค้าเกษตรโดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก) ก็อ้างอิงจากการจัดกลุ่มจาก TSIC
หรือเรื่องต่างๆ ทางสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เช่น การสำรวจสำมะโนและการสำรวจด้านต่างๆ ทางสถิติ ก็อ้างอิงจาก TSIC
จะเห็นว่า TSIC เป็นมาตรฐาน ที่นำไปใช้กันหลายหน่วยงานมากๆ ครับ
3. TSIC จัดกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างไร
TSIC จัดหมวดหมู่อุตสาหกรรม โดยอ้างอิงมาจากรายงานมาตรฐานนานาชาติอีกทอดหนึ่งชื่อ The International Standard Industrial Classification of All Economic Activities (ISIC) เป็นหลัก
นอกจากนี้ยังอ้างอิงร่วมกับมาตรฐานอีก 2 ชนิด คือ
- มาตรฐาน ASEAN คือ ASEAN Common Industrial Classification (ACIC) และ
- มาตรฐาน ASEAN+3 คือ East Asia Manufacturing Industrial Classification (EAMIC)
เราตามไปดูหน่วยงานมาตรฐานหลักคือ ISIC ว่าคืออะไรกันครับ
ISIC คืออะไร
ISIC ย่อมาจาก The International Standard Industrial Classification of All Economic Activities (ISIC) แปลว่า การจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด จัดทำโดยหน่วยงานด้านสถิติขององค์การสหประชาชาติ (United Nation Statistic Division) สามารถอ่านเพิ่มเติมได้โดยตรงที่ UNSD
ISIC เป็นรายงานเพื่อจัดมาตรฐานกลางสำหรับทุกประเทศ ช่วยให้ประเทศต่างๆ จัดหมวดหมู่อุตสาหกรรมได้ตรงกัน เพื่อประโยชน์ด้านการจัดการข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงการแบ่งประเภทการจ้างงาน การแบ่งประเภทผลิตภัณฑ์ของแต่ละประเทศ
ISIC จัดหมวดหมู่อุตสาหกรรม ผ่านการแบ่งประเภทอุตสาหกรรมเป็น 5 ลำดับคือ
- หมวดใหญ่ (Section)
- หมวดย่อย (Division)
- หมู่ใหญ่ (Group)
- หมู่ย่อย (Class)
- กิจกรรม/อุตสาหรรม (Activity/Industry)
เรียกว่า ละเอียดยิบ ระดับแบ่งไฟลัมสิ่งมีชีวิตกันเลยทีเดียว
ข้อ 1 ถึง 4 จะเป็นมาตรฐานเดียวกันเกือบทุกประเทศ ทุกประเทศที่ใช้มาตรฐานนี้ จะจัดกลุ่มเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเหมือนกัน หรือ ใกล้เคียงกันหมด
ส่วนข้อ 5 คือ อุตสาหกรรม/กิจกรรม อันนี้ แต่ละประเทศสามารถกำหนดได้เอง เช่น ประเภทไทยปลูกทุเรียนเยอะ ก็สามารถกำหนดเป็นกิจกรรมการปลูกทุเรียนได้ แต่ก็ยังต้องสังกัดหมวดหมู่หลักที่เป็นมาตรฐานเหมือนกัน
ISIC แบ่งอุตสาหกรรมออกเป็นกี่ประเภท
ก่อนจะรู้ว่า ISIC แบ่งอุตสาหกรรมออกเป็นกี่ประเภท ต้องรู้ก่อนว่า ISIC มีการปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง (แต่นานๆ ครั้ง) ทำให้มีประเภทอุตสาหกรรมใหม่งอกออกมากเรื่อยๆ
ISIC version ปัจจุบันคือ ISIC Revision 4 ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2008
ดังนั้น จึงเป็นคำตอบที่ว่า ทำไม TSIC ไม่ปรับปรุงฉบับใหม่สักที เพราะถ้า ISIC ยังไม่มีฉบับใหม่ TSIC ก็ยังไม่มีฉบับใหม่ เพราะ TSIC อ้างอิงมาจาก ISIC นั่นเอง
ISIC Revision 4 ได้แบ่งประเภทอุตสาหกรรมออกเป็น ดังนี้ครับ
- หมวดใหญ่ (Section) แบ่งออกเป็น 21 Sections ตั้งแต่ตัวอักษร A ถึง U
- หมวดย่อย (Division) แบ่งออกเป็น 88 Divisions (รหัส 2 ตัว)
- หมู่ใหญ่ (Group) แบ่งออกเป็น 238 Groups (รหัส 3 ตัว)
- หมู่ย่อย (Class) แบ่งออกเป็น 429 Classes (รหัส 4 ตัว)
- กิจกรรม/อุตสาหรรม (Activity/Industry) อันนี้แต่ละประเทศไปใส่กันเองครับ
ขอยกตัวอย่าง ISIC หมวดใหญ๋ (Section) 21 ประเภท ซึ่ง TSIC ของประเทศไทยก็ใช้หมวดใหญ่ 21 ประเภทเหมือนกัน ดังนี้
4. TSIC แบ่งอุตสาหกรรมออกเป็นกี่ประเภท
เอาละครับ มาถึงประเทศไทยสักที ตกลงแล้ว TSIC ของไทย แบ่งอุตสาหกรรมออกเป็นกี่ประเภท แต่ถ้าผู้อ่านอ่านมาตั้งแต่แรกจนถึงบรรทัดนี้ ก็สามารถตอบไว้ว่า 4 ลำดับแรก ต้องใกล้เคียงกับ ISIC เพราะ TSIC อ้างอิง ISIC
ส่วนสาเหตุที่ตัวเลขที่ไม่เท่ากันเป๊ะๆ น่าจะมีการปรับให้เหมาะกับบริบทอุตสาหกรรมของประเทศไทย ส่วนที่แตกต่างกันจริงๆ คือข้อ 5 ดังนี้ครับ
ประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศไทย
- หมวดใหญ่ (Section) แบ่งออกเป็น 21 Sections ตั้งแต่ตัวอักษร A ถึง U
- หมวดย่อย (Division) แบ่งออกเป็น 88 Divisions (รหัส 2 ตัว)
- หมู่ใหญ่ (Group) แบ่งออกเป็น 243 Groups (รหัส 3 ตัว)
- หมู่ย่อย (Class) แบ่งออกเป็น 440 Classes (รหัส 4 ตัว)
- กิจกรรม/อุตสาหรรม (Activity/Industry) อันนี้แต่ละประเทศไปใส่กันเอง ซึ่งประเทศไทยแบ่งออกเป็น 1,089 Activity ครับ
จะเห็นได้ว่า 4 ลำดับแรก TSIC แบ่งใกล้เคียงกับ ISIC แต่การแบ่งหมวดสุดท้ายคือ กิจกรรม TSIC ได้แบ่งอุตสาหกรรมของไทยเราออกเป็น 1,089 ประเภท ขอยกตัวอย่างให้ดู 1 ประเภท (หะ น้อยไปไหม) เช่น การปลูกทุเรียน เป็นต้นครับ
(ปล. ตัวเลขประเภทของอุตสาหกรรมด้านบนของกระทรวงแรงงาน กับ สำนักงานสถิติแห่งชาติไม่ตรงกันเป๊ะๆ นะครับ ผู้เขียนอ้างอิงตัวเลขจากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติครับ)
5. สรุป
อ่าว สรุปกันดื้อๆ เลยหรือ ก็…ใช่ครับ
เพราะเรื่อง TSIC นั้นละเอียดมาก ตั้งแต่เงื่อนไขการจัดกลุ่มว่าตกลงแล้วอุตสาหกรรมนี้ควรจัดอยู่กลุ่มไหน ใช้เงื่อนไขอะไร ถ้าทำธุรกิจหลายอย่างแล้วจะจัดอยู่กลุ่มไหนดี แล้วแต่ละกลุ่มมีข้อยกเว้นอะไรไหม ฯลฯ
แนะนำว่าถ้าสนใจเรื่องนี้จริงๆ ควรอ่านรายงาน TSIC ฉบับเต็มตามลิงก์ที่ให้ไว้ด้านล่างของบันทึกนี้
แต่ขอสรุปสั้นๆ ตรงนี้ว่า ประเทศเรามีมาตรฐานการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่อ้างอิงจากมาตรฐานโลก และหน่วยงานรัฐจำนวนมากก็อ้างอิง TSIC ในการจัดการหลายๆ อย่างครับ
(ซึ่งสาเหตุที่ผู้เขียนนำ TSIC มาเล่า ก็เพื่อใช้จัดกลุ่มประเภทของธุรกิจเกษตรนี่แหละครับ)
63636363636363636363636363
อ่านมาถึงตรงนี้ก็ต้องขอบคุณผู้อ่านมากครับ เรื่อง TSIC เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ ซึ่งยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจกว่านี้อีกมาก ถ้าอยากอ่านเรื่องอื่นของกลยุทธ์ รวมถึงเรื่อง ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) และการสร้างคุณค่า value proposition design, business model เพิ่มเติม สามารถอ่านได้จากหน้าสารบัญ
หากผู้อ่านอยากรู้เรื่องกลยุทธ์แบบลึกซึ้ง สามารถติดต่อผู้เขียนเรื่องฝึกอบรมหรือการทำ workshop ได้ โดยสามารถดูรายละเอียดช่องทางการติดต่อผู้เขียนได้ที่ About ครับ
บันทึกนี้อยู่ในซีรีย์กลยุทธ์ธุรกิจ (Business Strategy) สามารถอ่านเรื่องอื่นในซีรีย์เพิ่มเติมได้จาก Link
Business Strategy
SWOT Series
External Environmental Analysis Series
Blue Ocean Strategy Series
Strategic Formulation Series
Others
References :
Leave a Reply