The Global Industry Classification Standard (GICS) คืออะไร

by

— last updated:

first published:

The Global Industry Classification Standard (GICS) คืออะไร

เคยสงสัยไหมครับ ว่าอุตสาหกรรมในโลกนี้ แบ่งออกได้เป็นกี่กลุ่ม กี่ประเภท อะไรบ้าง วันนี้มาทำความรู้จักมาตรฐานการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมตลาดหลักทรัพย์ หรือตลาดหุ้น ว่าหุ้นตัวนี้ควรจัดอยู่ในกลุ่มไหน นั้นคือมาตรฐาน GICS ว่า GICS คืออะไรกันครับ

1. GICS คืออะไร

The Global Industry Classification Standard (GICS) คือ มาตรฐานการจัดกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้การจัดหมวดหมู่ประเภทอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน

The Global Industry Classification Standard (GICS) คือ มาตรฐานการจัดกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้การจัดหมวดหมู่ประเภทอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน

GICS พัฒนาขึ้นครั้งแรกในปี 2542 โดยบริษัท 2 บริษัท คือ Morgan Stanley Capital International (MSCI) และบริษัท Standard & Poor’s (S&P) ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก เกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และการจัดทำดัชนีต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกเป็นหลัก

ดังนั้น การจัดกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ จึงเน้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดกลุ่มหลักทรัพย์ต่างๆ เช่น หุ้นตัวนี้อยู่ในกลุ่มไหน? อุตสาหกรรมอะไร หรือถ้าเราทำดัชนีต่างๆ เช่น ดัชนีหุ้นภาคเกษตร เราจะเอาหุ้นตัวนี้ไปอยู่ในกลุ่มนี้ด้วยไหม จึงเป็นที่มาของการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมครับ

2. GICS จัดกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างไร

GICS จัดประเภทอุตสาหกรรมออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้

  1. ระดับ Sector แบ่งได้เป็น 11 Sectors
  2. ระดับ Industry Group แบ่งได้เป็น 25 Industry Groups
  3. ระดับ Industry แบ่งได้เป็น 74 Industries
  4. ระดับ Sub-Industry แบ่งได้เป็น 163 Sub-Industries

สรุปคือ GICS แบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นตามแนวพิรามิดคือ แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ แล้วแตกย่อยๆ ให้ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ แนวเดียวกับ ISIC

(อ่าน ISIC คืออะไร เพิ่มเติมได้ครับ โดยเทียบระหว่าง GICS กับ ISIC แล้ว ISIC จะมีการจัดกลุ่มที่ละเอียดกว่า เนื่องจากเป็นการจัดกลุ่มที่เน้นเกือบทุกกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ ไม่จำกัดเฉพาะตลาดหุ้น)

3. การแบ่งประเภทอุตสาหกรรม GICS

เราลองมาดูการจัดกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด คือการแบ่งอุตสาหกรรมออกเป็น Sector ว่า 11 Sectors ประกอบด้วยอะไรบ้าง

GICS คืออะไร : ภาพการแบ่งประเภทอุตสาหกรรมตาม GICS (ขอบคุณภาพประกอบจาก https://www.msci.com/)
GICS คืออะไร : ภาพการแบ่งประเภทอุตสาหกรรมตาม GICS (ขอบคุณภาพประกอบจาก https://www.msci.com/)
  1. พลังงาน (Energy)
  2. วัสดุ (Materials)
  3. อุตสาหกรรม (Industrials)
  4. สินค้าอุปโภคบริโภคฟุ่มเฟือย นอกเหนือจากปัจจัยพื้นฐาน (Consumer Discretionary)
  5. สินค้าอุปโภคบริโภคปัจจัยพื้นฐาน (Consumer Staples)
  6. สุขภาพ (Health Care)
  7. การเงิน (Financials)
  8. เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology)
  9. บริการด้านการสื่อสาร (Communication Services)
  10. สาธารณูปโภค (Utilities)
  11. อสังหาริมทรัพย์ (Real Estate)

ซึ่งแต่ละ Sector ก็จะมีเลขรหัสของตนเอง และจะแบ่งประเภทในขั้น Industry Group ได้อีกเป็นอย่างละ 2 บ้าง 3 บ้าง แล้วก็แตกย่อยออกไปเรื่อยๆ ในขั้น Industry และ Sub-Industry ครับ

ขอยกตัวอย่างให้ดู 1 Sub-Industry คือ กลุ่มสินค้าและบริการทางการเกษตร (Agricultural Products & Services) ว่าอยู่ในหมวดหมู่ใด

กลุ่มสินค้าและบริการทางการเกษตร (Agricultural Products & Services)

  • Sector: รหัส 30 Consumer Staples (สินค้าอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐาน)
  • Industry Group: รหัส 3020 Food, Beverage & Tobacco (อาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ) ปล. ยาสูบจำเป็นตรงไหน?
  • Industry: รหัส 302020 Food Products (ผลิตภัณฑ์อาหาร)
  • Sub-Industry: รหัส 30202010 Agricultural Products & Services (สินค้าและบริการทางการเกษตร)

จะเห็นได้ว่าสินค้าด้านเกษตรถือว่าอยู่กลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่ (Sector) คือ สินค้าอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐาน

อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Group) คือ กลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ

อยู่ในอุตสาหกรรม (Industry) ผลิตภัณฑ์อาหาร

และ อยู่ในอุตสาหกรรมย่อย (Sub-Industry) คือ สินค้าและบริการทางการเกษตร ครับ

4. เกณฑ์ในการแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรม

GICS ใช้เกณฑ์ในการจัดว่าบริษัทไหนอยู่ในอุตสาหกรรมไหน โดยดูจากหลักดังนี้ครับ

– รายได้ (Revenue) มากกว่า 60%

เอาง่ายๆ รายได้มาจากอุตสาหกรรมไหน ก็ถือว่า บริษัทนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมนั้นครับ โดยเกณฑ์ที่ GICS ใช้คือ กิจกรรมด้านธุรกิจที่สร้างรายได้มากกว่า 60% ของรายได้บริษัท ก็ถือว่าบริษัทนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมนั้น

– ถ้าไม่มีกิจกรรมไหนรายได้เกิน 60% เอากิจกรรมที่มีสัดส่วนรายได้มากที่สุด

ถ้าบริษัทมีรายได้จากหลายกิจกรรม แล้วไม่มีอันไหนเกิน 60% เช่น กิจกรรม A ทำรายได้ 40% กิจกรรม B ทำรายได้ 25% ก็ถือว่าบริษัทนี้อยู่ในอุตสาหกรรมของกิจกรรม A ถ้าจัดกลุ่มรายได้ไม่ชัดเจน ก็จะดูเกณฑ์กำไรแทน

– ถ้ารายได้มาหลายกลุ่มมาก จัดเป็นประเภทกลุ่มบริษัท (Conglomerates)

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท GE ทีทำหลายธุรกิจมากตั้งแต่ ธุรกิจการบิน พลังงาน พลังงานสะอาด สินค้าทางการแพทย์ เป็นต้น จะถูกจัดกลุ่มอยู่กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรม Industrial Conglomerates

– ถ้าจัดอะไรไม่ได้ จะอยู่ที่การวิเคราะห์ต่อไป

ถ้าบริษัทไหนไม่รู้จะจัดกลุ่มไหน ทาง GICS ก็จะวิจัยและวิเคราะห์ว่าบริษัทนี้ควรอยู่กลุ่มไหนครับ


ตัวเลขรายได้ต่างๆ เพื่อใช้ในการจัดกลุ่มอุตสาหกรรม GICS จะนำมาจากรายงานประจำปีของบริษัทต่างๆ ดังนั้น บริษัทที่ถูกจัดลำดับใน GICS จึงเป็นบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศต่างๆ เท่านั้น ที่ถูกจัดกลุ่มโดย GICS ครับ

แต่ ถ้าเราทำงานอยู่ในบริษัทเล็กๆ ของเรา เราสามารถจัดกลุ่มบริษัทเราเองก็ได้โดยดูจากเกณฑ์การจัดกลุ่ม GICS นี่แหละครับว่าบริษัทเราอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอะไร

5. สรุป

The Global Industry Classification Standard (GICS) คือ มาตรฐานการจัดกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้การจัดหมวดหมู่ประเภทอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน

GICS พัฒนาขึ้นเพื่อใช้จัดกลุ่มของหุ้นว่าหุ้นกลุ่มนี้ควรอยู่กลุ่มไหน เวลานำไปคำนวนดัชนีต่างๆ จะได้มีหลักการและมาตรฐานในการจัดกลุ่ม โดยผู้อ่านสามารถอ่านกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งหมดได้ที่ reference ด้านล่างเลยครับ

เราสามารถนำหลักการเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในธุรกิจได้หลายอย่าง โดยการเฉพาะพิจารณาว่าองค์กรเราอยู่ในอุตสาหกรรมใดกันแน่ เพื่อช่วยในการวิเคราะห์กลยุทธ์ธุรกิจต่อไปครับ

63636363636363636363636363

อ่านมาถึงตรงนี้ก็ต้องขอบคุณผู้อ่านมากครับ เรื่อง GICS เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องการลงทุน (investment) ซึ่งยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจกว่านี้อีกมาก ถ้าอยากอ่านเรื่องอื่นของการลงทุน เรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ รวมถึงเรื่อง ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) และการสร้างคุณค่า value proposition design, business model เพิ่มเติม สามารถอ่านได้จากหน้าสารบัญ 

หากผู้อ่านอยากรู้เรื่องการลงทุนแบบลึกซึ้ง สามารถติดต่อผู้เขียนเรื่องฝึกอบรมหรือการทำ workshop ได้ โดยสามารถดูรายละเอียดช่องทางการติดต่อผู้เขียนได้ที่ About ครับ


โสภณ แย้มกลิ่น (Sophon Yamklin) Avatar

References: