โมเดลธุรกิจเกษตร (Agribusiness Business Model) ที่ซื้อของจากเกษตรกร

by

— last updated:

first published:

photo lavender flower field under pink sky

หลังจากได้อ่าน Business Model ของธุรกิจเกษตร (Agribusiness) กลุ่มแรก คือ Business Model ที่มีเกษตรกรเป็นลูกค้า และ ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) กลุ่มสอง คือ โมเดลธุรกิจเกษตรแบบเกษตรกรรม (Agricultural Business Model) ไปแล้ว วันนี้มาทำความรู้จักธุรกิจเกษตรกลุ่มที่ 3 คือ เราซื้อบางอย่างมาจากเกษตรกร แล้วเอาไปทำธุรกิจต่อ ว่ามีธุรกิจอะไรบ้าง และมี Business Model ในรูปแบบใดบ้าง

1. ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) กลุ่มซื้อของจากเกษตรกร คืออะไร

ก่อนอื่น แนะนำให้อ่านเรื่องธุรกิจเกษตร (Agribusiness) คืออะไร จากบทความ ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) คืออะไร และ บทความเรื่อง โมเดลธุรกิจของธุรกิจเกษตร (Agribusiness Business Model) ของธุรกิจเกษตร ก่อนนะ

โดยผู้เขียน ได้แบ่งธุรกิจเกษตรออกเป็น 4 กลุ่ม ตามลักษณะของโมเดลธุรกิจ (Business Model) คือ

ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) คืออะไร: เราสามารถแบ่งธุรกิจเกษตรตามลักษณะของโมเดลธุรกิจ (Business Model) ออกได้เป็น 4 ประเภทหลัก ดังแสดงในภาพ
ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) คืออะไร: เราสามารถแบ่งธุรกิจเกษตรตามลักษณะของโมเดลธุรกิจ (Business Model) ออกได้เป็น 4 ประเภทหลัก ดังแสดงในภาพ
  • กลุ่มที่ 1: ขายของให้เกษตรกร ได้เขียนบันทีกแยกแล้ว อ่านได้ที่นี่
  • กลุ่มที่ 2: เป็นเกษตรกรเสียเอง ได้เขียนบันทีกแยกแล้ว อ่านได้ที่นี่
  • กลุ่มที่ 3: ซื้อของจากเกษตรกร คือ ธุรกิจเกษตรที่เขียนในบันทึกนี้
  • กลุ่มที่ 4: อะไรที่สนับสนุน 3 อันข้างบน (ยังไม่ได้เขียน)

ดังนั้น ธุรกิจเกษตรในกลุ่มที่ 3 นี้ ก็คือ “ธุรกิจที่ ซื้อสินค้าจากเกษตรกร ไปทำธุรกิจต่อ” ซึ่งธุรกิจต่อ อาจเป็นธุรกิจง่ายๆ เช่น ซื้อไปขายต่อให้คนอื่น หรือ รวบรวมเป็นล็อตใหญ่ๆ แล้วไปขายส่งให้ห้างดังๆ หรือ ซื้อไปแปรรูปเป็นสินค้าอื่นๆ หรือ รวบรวมจากรายย่อยไปเยอะๆ แล้วส่งออกไปต่างประเทศ ก็ได้

พูดอีกอย่าง ธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ จะใช้วัตถุดิบจากธุรกิจเกษตรกลุ่มที่สอง เพื่อไปใช้ในธุรกิจของตัวเองต่อไป

2. ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) กลุ่มซื้อของจากเกษตรกร มีอะไรบ้าง

ถ้าเราจะจัดกลุ่มธุรกิจเกษตรกลุ่มซื้อของจากเกษตรกรว่ามีอะไรบ้าง กี่ประเภท จะพบว่า ธุรกิจกลุ่มนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับ ธุรกิจเกษตรกลุ่มปัจจัยการผลิต คือ กระจายอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่หลากหลาย ไม่ได้ถูกจัดกลุ่มรวมอยู่ในหมวดเดียวเหมือนธุรกิจเกษตรกลุ่มเกษตรกรรม ตามหลัก การจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทย (Thailand Standard Industrial Classification) อ่านเพิ่มเติม TSIC –> TSIC คืออะไร

ธุรกิจเกษตรกลุ่มซื้อของจากเกษตรกร กระจายอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น กลุ่มค้าปลีก กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น โดยจัดกลุ่มแบบใหญ่ๆ ได้ดังนี้

ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) แบบซื้อของจากเกษตรกร: กลุ่มธุรกิจแปรรูป

ธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ คือ ธุรกิจที่ซื้อสินค้าจากเกษตรกร แล้วนำไปแปรรูป เพื่อขายต่อ โดยขายในรูปที่ยังเป็นสินค้าเกษตรเหมือนเดิมก็ได้ หรือแปรรูปแล้วเปลี่ยนกลุ่มไปอุตสาหกรรมอื่น เช่น ยา หรือ เคมีภัณฑ์ ก็ได้

ธุรกิจแปรรูป เป็นได้ตั้งแต่แปรรูปเบื้องต้นแบบ Basic เช่น เอาไปล้างให้สะอาด คัดเอาของเสียๆ ออกไป เอาไปใส่ถุง เอาไปใส่กล่อง แบบนี้

หรือ แปรรูปให้ Advance ขึ้นมาหน่อย เอาไปผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น เอาข้าวเปลือกไปสีให้เป็นข้าวถุง หรือ Advance ขึ้นไปอีก เช่น เอาไปผ่านความร้อน ความเย็น เอาไปหมัก เอาไปดอง เพื่อให้เก็บสินค้าได้นานยิ่งขึ้น

การแปรรูปบางอย่างใช้เทคโนโลยี hi-tech เช่น การ freeze-dry ทุเรียน

หรือแปรรูปให้ Advance ขั้นสุด เช่น เอาไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนมากๆ มีมูลค่าเพิ่มสูงมากๆ เช่น กลุ่มเครื่องสำอาง กลุ่มยา เอาพริกไปสกัดเอาสารไปทำยาแก้หวัด ยาลดไขมัน หรือ เอาปาล์มน้ำมัน ไปแปรรูปเป็นสารเคมีทางอุตสาหกรรม เป็นต้น

ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) แบบซื้อของจากเกษตรกร: กลุ่มธุรกิจผู้รวมรวม

ธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ จะเป็นตัวกลางที่เชื่อมระหว่าง “เกษตรกร” กับ “ธุรกิจปลายทาง” ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า Supermarket ร้านอาหาร ผู้ส่งออก ฯลฯ เรามักได้ยินคนเรียกคนทำธุรกิจกลุ่มนี้ว่า หยงบ้าง ล้งบ้าง Broker บ้าง นายหน้าบ้าง แล้วแต่ชนิดสินค้าเกษตร

ผู้รวบรวม จะทำหน้าที่ในการรวมรวบผลผลิตทางการเกษตร จากแหล่งต่างๆ โดยมากจะเป็นการรวบรวม จากฟาร์มขนาดเล็ก ในบางกรณี อาจจะต้องจัดหาจากหลายพื้นที่ เพื่อให้ได้ปริมาณตามที่ต้องการ

Business Model ของธุรกิจเกษตร (Agribusiness): ซื้อของจากเกษตรกร : ผู้รวบรวม เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ทำให้ระบบธุรกิจเกษตรขับเคลื่อนได้ หากไม่มีผู้รวบรวม สินค้าจากเกษตรกรจะมาถึงผู้บริโภคได้ยาก
Business Model ของธุรกิจเกษตร (Agribusiness): ซื้อของจากเกษตรกร : ผู้รวบรวม เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ทำให้ระบบธุรกิจเกษตรขับเคลื่อนได้ หากไม่มีผู้รวบรวม สินค้าจากเกษตรกรจะมาถึงผู้บริโภคได้ยาก

บางกรณี ผู้รวบรวมต้องตรวจสอบคุณภาพสินค้า คัดคุณภาพ เพื่อให้สินค้ามีมาตรฐานตามที่ผู้ซื้อต้องการ หรือ ต้องทำหน้าที่ แปรรูปเบื้องต้น เช่น ล้าง แพ็คใส่ห่อ ให้กับผู้ซื้อด้วย

กรณีที่เกษตรกรมีฟาร์มขนาดใหญ่ มีความรู้ด้านบริหารจัดการ เกษตรกรอาจทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมเองเลยก็ได้ คือ ติดต่อขายตรงกับ ร้านค้า ผู้ส่งออก โดยตรง ถ้าของไม่พอ ก็ไปหาซื้อจากรายย่อยในพื้นที่ เป็นต้น

เกษตรกรรายเล็กๆ ก็สามารถทำหน้าที่ผู้รวบรวมได้ โดยการรวมกลุ่มกันในรูปวิสาหกิจชุมชน หรือ สหกรณ์การเกษตร และทำหน้าที่ผู้รวบรวม ติดต่อตรงกับผู้จัดจำหน่ายเองเลย

กลุ่มผู้รวบรวม ถือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้จัดจำหน่ายก็ได้ เนื่องจากผู้รวบรวม ก็จัดจำหน่ายด้วยไง ใครจะรวบรวมเยอะๆ มากินเองเล่า! แต่ฉันจำหน่าย เพื่อให้เขาไปขายต่ออีกที ซึ่งบางกรณี ผู้รวบรวมก็ Advance ระดับน้องๆ ผู้จัดจำหน่ายจริงๆ คือ มีโกดังเก็บของ มีการ Stock สินค้า มีการจัดการสินค้าคงคลัง FIFO LIFO ก็ว่ากันไป

ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) แบบซื้อของจากเกษตรกร: กลุ่มผู้จัดจำหน่าย

ธุรกิจเกษตรกลุ่มผู้จัดจำหน่ายนี้ เป็นธุรกิจเกษตรกลุ่มที่เกือบจะปลายทางแล้ว คือ ผู้บริโภคจะได้บริโภคเสียที!

ประเภทเกือบจะปลายทาง ก็คือ ผู้ค้าส่ง (Wholesale) นึกไม่ออกก็ ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง หรือห้าง Makro โดยมากจะมีผู้ค้าส่งอยู่อย่างน้อยๆ จังหวัดละ 1 ที่

ธุรกิจผู้ค้าส่ง มีได้ตั้งแต่ เจาะรายสินค้า เช่น ฉันค้าส่งแต่ไก่ เจาะรายกลุ่มสินค้า เช่น ฉันค้าส่งแต่เฉพาะผลไม้ หรือ ขายส่งสินค้าเกษตรเกือบทุกอย่าง เช่น ตลาดไท ไปจนถึง การขายส่งสินค้าเกือบทุกกลุ่ม รวมสินค้านอกกลุ่มเกษตรด้วย เช่น ห้าง Makro

ส่วนการค้าปลีก (Retailer) คือ ที่ๆ เราไปซื้อสินค้าเกษตรกัน มีได้ตั้งแต่ ธุรกิจรถเร่ หาบเร่ ร้านค้าชุมชน สหกรณ์ 7-Eleven, Betagro Shop, Lotus, Top Super Market, Villa Market หรือ เป็นร้านเฉพาะทางต่างๆ เช่น Lemon Farm, Golden Place ก็ถือเป็นว่าเป็นธุรกิจเกษตร กลุ่มผู้จัดจำหน่ายทั้งหมด

ในที่สุด ผู้บริโภคก็ได้กินเสียที แต่เดี๋ยวก่อน…ถ้า ผู้บริโภคไม่ได้อยู่ในประเทศละ?

ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) แบบซื้อของจากเกษตรกร: กลุ่มผู้ส่งออก

สินค้าทางการเกษตรของประเทศไทยหลายชนิด เราผลิตเก่งมากๆ คือ ผลิตจนเกินจะบริโภคเอง เราก็นำขายคนประเทศอื่น หรือ เราทำได้ดีมากๆ จนตั้งใจผลิตเพื่อส่งออกโดยเฉพาะ พอไปขายคนนอกประเทศ เราจะเรียกกิจกรรมนั้นว่า “การส่งออก (Export)”

ถ้าเราทำธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ กิจกรรมหลักของเรา คือการหาตลาดที่จะส่งสินค้าไปขาย และ การหาแหล่งวัตถุดิบที่ได้คุณภาพและปริมาณตามที่ต้องการ ที่ดังๆ ตอนนี้ก็ต้อง การขายทุเรียนไปประเทศจีน ผู้ส่งออกต้องหาทุเรียนที่ได้คุณภาพดี และหาตลาดที่รับซื้อทุเรียนไทยในประเทศจีน ซึ่ง…ตอนนี้แทบจะเป็นคนจีนทำเองทั้งหมดแล้ว

สินค้าเกษตรของประเทศไทยส่งออกเยอะๆ ก็เช่น ยางพารา ข้าว มันสัปปะหลัง ไก่แช่แข็ง กุ้งแช่แข็ง ฯลฯ ในปี 2565 ปีเดียว เราส่งออกสินค้าเกษตรไปต่างประเทศเป็นมูลค่าประมาณ 1,800,000,000,000 บาท (อ่านว่า 1.8 ล้านล้านบาท) กันเลยทีเดียว! คิดเป็นสัดส่วนถึง 18 – 19% ของการส่งออกของประเทศไทยในปีนั้น

ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) กลุ่มซื้อของจากเกษตรกร: สถิติมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร (Agricultural Products) ปี 2561 - 2565
ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) กลุ่มซื้อของจากเกษตรกร: สถิติมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร (Agricultural Products) ของประเทศไทย ปี 2561 – 2565 (ที่มา : รายงานสถิติการค้าสินค้าเกษตรไทยกับต่างประเทศปี 2565 จัดทำโดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร)

ธุรกิจส่งออก จึงเป็นธุรกิจเกษตรอีกธุรกิจที่น่าสนใจครับ

3. การแบ่งธุรกิจเกษตร (Agribusiness) กลุ่มซื้อของจากเกษตรกรเป็นระบบย่อย

จะเห็นได้ว่า ธุรกิจเกษตรกลุ่มซื้อของจากเกษตรกรนี้ มีลักษณะการดำเนินธุรกิจแตกต่างกันมาก ในทางวิชาการ จึงมีการแบ่งกลุ่มธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ให้ละเอียดขึ้น เมื่อรวมกับธุรกิจเกษตรกลุ่มที่ 1 กับ กลุ่มที่ 2 แล้ว ทำให้ธุรกิจเกษตรสามารถแบ่งกลุ่มได้ดังนี้

แบ่งธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ออกเป็น 2 ประเภท

ทำให้ระบบย่อยธุรกิจเกษตร (Agribusiness System) จะประกอบด้วย 4 ประเภท คือ

  1. กลุ่มปัจจัยการผลิต
  2. กลุ่มเกษตรกรรม
  3. กลุ่มแปรรูป (แยกแปรรูป ออกมา)
  4. กลุ่มผู้จัดจำหน่าย (รวมตั้งแต่ รวบรวม จัดจำหน่าย ส่งออก)

แบ่งธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ออกเป็น 3 ประเภท

ทำให้ระบบย่อยธุรกิจเกษตร (Agribusiness System) จะประกอบด้วย 5 ประเภท คือ

  1. กลุ่มปัจจัยการผลิต
  2. กลุ่มเกษตรกรรม
  3. กลุ่มแปรรูป (แยกแปรรูป ออกมา)
  4. กลุ่มผู้รวบรวม (แยกผู้รวบรวม ออกมา)
  5. กลุ่มผู้จัดจำหน่าย (รวมตั้งแต่ การจัดจำหน่าย ส่งออก)

แบ่งธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ออกเป็น 4 ประเภท

ทำให้ระบบย่อยธุรกิจเกษตร (Agribusiness System) จะประกอบด้วย 6 ประเภท คือ

  1. กลุ่มปัจจัยการผลิต
  2. กลุ่มเกษตรกรรม
  3. กลุ่มแปรรูป (แยกแปรรูป ออกมา)
  4. กลุ่มผู้รวบรวม (แยกผู้รวบรวม ออกมา)
  5. กลุ่มผู้จัดจำหน่าย (แยกผู้จัดจำหน่าย ออกมา)
  6. กลุ่มผู้ส่งออก (แยกผู้ส่งออก ออกมา)

การแบ่งธุรกิจเกษตรกลุ่มซื้อของจากเกษตรกรออกเป็นประเภทย่อย จะช่วยให้เราเห็นภาพความแตกต่างของธุรกิจได้มากขึ้นครับ

4. โมเดลธุรกิจเกษตร (Agribusiness Business Model) ที่ซื้อของจากเกษตรกร

ธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้แม้จะมีความแตกต่างที่แบ่งเป็นประเภทย่อยได้หลายประเภท แต่ทุกประเภทจะมีสิ่งที่เหมือนกัน คือ เป็นธุรกิจที่ ซื้อสินค้าจากเกษตรกร ไปทำธุรกิจต่อ

ทำให้ธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ มีลักษณะของ Business Model ที่ร่วมกันทุกกลุ่ม คือ จะมีสินค้าเกษตร หรือ มีกระบวนการภายในที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร อยู่ใน Business Model ส่วน Operation เช่น Key Resources, Key Activities, Key Partners และ ส่วนของ Cost Structure

โดยหากเราจะเขียน Business Model ของธุรกิจกลุ่มนี้ จะมีลักษณะดังนี้

Business Model ของธุรกิจเกษตร (Agribusiness): กลุ่มซื้อของจากเกษตรกรจะมีลักษณะร่วมกันคือ ฝั่ง Resources จะเกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรเป็นหลัก

สินค้าและบริการ (Products & Services)

สินค้าและบริการของธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ จะเป็นสินค้าที่มีส่วนประสมหรืออะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด เช่น ผู้ทำธุรกิจรวบรวมก็ยังเป็นสินค้าเกษตรเป็นหลัก ส่วนผู้แปรรูปอาจแปรเป็นสินค้านอกกลุ่มเกษตรก็ได้ เช่น ยารักษาโรค เป็นต้น

กลุ่มลูกค้า (Customer Segments)

กลุ่มลูกค้า (Customer Segments) ของธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ จะเป็นผู้บริโภคทั่วไปตามแต่ลักษณะของธุรกิจ เช่น กรณีขายอาหารสำเร็จรูปในธุรกิจการจัดจำหน่าย กลุ่มลูกค้าก็จะเป็นผู้บริโภคขั้นสุดท้าย หรือ ถ้าเป็นธุรกิจผู้รวบรวม กลุ่มลูกค้าอาจเป็นบริษัทผู้แปรรูป เป็นต้น

แต่โดยรวมแล้ว ธุรกิจกลุ่มนี้ไม่ได้มีเกษตรกรเป็นลูกค้า ครับ

คุณค่าที่นำเสนอ (Value Proposition)

คุณค่าที่นำเสนอ (Value Proposition) ของธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ ก็จะแตกต่างกันตามลักษณะของธุรกิจ เช่น หากเป็นผู้แปรรูป คุณค่าจะมาตัวสินค้าที่ผ่านการแปรรูปโดยตรง แนวๆ “เส้นบะหมี่ที่ช่วยเสริมโปรตีนให้เด็กที่กินโปรตีนไม่พอ” หรือ หากเป็นผู้รวบรวม คุณค่าอาจมาจาก “สามารถส่งสินค้าได้ตามที่สั่งทุกครั้ง” เป็นต้น

ช่องทาง (Channel)

ช่องทาง (Channel) สำหรับธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ แตกต่างกันตามลักษณะของธุรกิจ โดยหากเป็นผู้รวบรวมและจัดจำหน่าย มันจะมีหน้าร้านและขายหน้าร้านเป็นหลัก หรือหากเป็นผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ อาจมีระบบสั่งของออนไลน์ได้ หรือกรณีสินค้ามีขนาดเล็ก ก็จะใช้ช่องทางออนไลน์ได้เช่นกัน

ความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationships)

การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationships) จะเป็นการสร้างระหว่าง ธุรกิจในกลุ่ม เช่น ผู้แปรรูป ผู้จัดจำหน่าย กับกลุ่มลูกค้าแต่ละประเภท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการซื้อซ้ำต่อเนื่องครับ

กระแสรายได้ (Revenue Stream)

กระแสรายได้ (Revenue Stream) ของธุรกิจกลุ่มนี้ มาจากการขายให้กับผู้บริโภคเป็นหลัก โดยหากเป็นการขายกับผู้บริโภคโดยตรง จะเป็นการ “ขายขาด” เกือบทั้งหมด

ส่วนกรณีขายให้กับผู้รวบรวม หรือ พ่อค้าคนกลาง หรือ ผู้แปรรูป อาจมีกระแสรายได้ในรูปแบบอื่นๆ เช่น การสร้างรายได้จาก Subscription Model โดยผู้ขายตกลงว่าจะส่งสินค้าให้ผู้ซื้อเดือนละเท่านั้นเท่านี้ โดยจ่ายเงินเป็นรายเดือน เป็นต้น

ทรัพยากรหลัก (Key Resources)

ทรัพยากรหลัก (Key Resources) ของธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ จะเกี่ยวเนื่องกับการเกษตร แต่ไม่ได้เป็นคนผลิตสินค้าเกษตรเอง เช่น การมีโรงงานแปรรูปที่ได้มาตรฐาน การมีสิทธิบัตรในการแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นสินค้ากลุ่มอื่น เช่น อาหาร ยา เป็นต้น

กิจกรรมหลัก (Key Activities)

กิจกรรมหลัก (Key Activities) ของธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ จะเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกร หรือ เกี่ยวเนื่องกับการได้มาถึงสินค้าเกษตร เช่น การหาเกษตรกรเข้าเครือข่าย การสร้างความสัมพันธ์กับเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร การตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรที่รับมาเป็นวัตถุดิบให้ได้คุณภาพตามที่ต้องการ

แต่กิจกรรมหลัก จะไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าเกษตร เพราะไม่ได้เป็นผู้ผลิตเองครับ

พันธมิตรหลัก (Key Partners)

พันธมิตรหลักของธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้ จะมีส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น เป็นพันธมิตร กับกลุ่มสหกรณ์ที่ผลิตสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องบริษัท หรือ การเป็นพันธมิตรกับเกษตรกรรายใหญ่เป็นรายบุคคล

หรือ การเป็นพันธมิตรกับกลุ่มผู้รวบรวมขนาดใหญ่ เพื่อนำไปสร้างเป็น Key Resources และสร้าง Value Proposition ได้ต่อไป

หรือ การเป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญด้านการแปรรูปสินค้าเกษตร เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สำหรับกลุ่มธุรกิจแปรรูป เป็นต้น

โครงสร้างต้นทุน (Cost Structures)

ต้นทุนของธุรกิจเกษตรประเภทนี้ จะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร เช่น การซื้อสินค้าจากเกษตรกร ต้นทุนในการตรวจสอบวัตถุดิบทางการเกษตร แต่ต้นทุนจะไม่ใช่ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรโดยตรง เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรด้วยตนเอง


ด้วยความที่ธุรกิจเกษตรกลุ่มนี้มีหลากหลายมาก บันทึกชักจะยาวไป ไว้เดี๋ยวผู้เขียนมาเขียนบันทึกเจาะรายกลุ่มให้ฟังวันหลังดีกว่านะครับ

636363636363636363636363

อ่านมาถึงตรงนี้ก็ต้องขอบคุณผู้อ่านทุกคนมาก ถ้าอยากอ่านเรื่อง Business Model และ Business Model Innovation ใน ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) รวมไปถึงการออกแบบคุณค่า (Value Proposition Design) และนวัตกรรมโมเดลธุรกิจ (Business Model Innovation) ให้กับธุรกิจเกษตรและธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติม สามารถอ่านได้จากหน้าสารบัญ

หากผู้อ่านอยากรู้เรื่อง การออกแบบโมเดลธุรกิจ (Business Model Design) ให้กับ ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) แบบลึกซึ้ง สามารถติดต่อผู้เขียนเรื่องฝึกอบรมหรือการทำ workshop ได้ โดยสามารถดูรายละเอียดช่องทางการติดต่อผู้เขียนได้ที่ About ครับ


โสภณ แย้มกลิ่น (Sophon Yamklin) Avatar