เราได้ยินคนพูดว่า เศรษฐกิจขยายตัว หรือ เศรษฐกิจหดตัว เรารู้ไหมว่าเค้าคำนวณขนาดเศรษฐกิจกันอย่างไร หนึ่งในตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจที่สำคัญคือ GDP วันนี้ชวนมาทำความรู้จักกับคำว่า GDP (Gross Domestic Product) กันครับ
1. GDP คืออะไร
GDP (Gross Domestic Product) คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ โดยนับเฉพาะสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย ที่ผลิตได้จากการประกอบการในประเทศนั้นๆ ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง
GDP ใช้ขอบเขตประเทศเป็นหลัก ดังนั้น สินค้าและบริการได้จากการประกอบการในประเทศไหน ก็นับเป็น GDP ของประเทศนั้น เช่น คนญี่ปุ่นมาทำธุรกิจในประเทศไทย ก็นับเป็น GDP ของประเทศไทยด้วย
พูดเป็นภาษาบ้านๆ GDP ก็คือ มูลค่าของระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ อย่างเวลาเราวัดว่า เศรษฐกิจเราโตแค่ไหน โตกี่ % เราก็ดูจากการเติบโตของ GDP นี่แหละ หรืออย่างช่วง โควิด-19 ที่เราบ่นๆ ว่าเศรษฐกิจแย่ ก็วัดได้จากยอด GDP ที่ลดลง
การวัด GDP ปกติเราจะเห็นการรายงาน GDP เป็นรายไตรมาส (3 เดือน) และ GDP รายปี โดยหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่อง GDP ของประเทศไทย คือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครับ
2. Real GDP กับ Nominal GDP คืออะไร
ทีนี้ เวลาเราเห็นสภาพัฒน์ฯ รายงานเรื่อง GDP มักจะมีค่า GDP 2 ค่า คือ Real GDP กับ Nominal GDP มาดูกันว่า GDP ทั้ง 2 แบบเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
Nominal GDP คืออะไร
GDP นั้น เวลาเค้าคำนวณ จะคำนวณโดยมีหน่วยเป็น “บาท” สำหรับประเทศไทย (ถ้าเป็นประเทศอื่น ก็ตามสกุลเงินของเค้า) เมื่อมีหน่วยเป็น “บาท” แปลว่า มันไม่ได้คำนวณมาจาก “จำนวนการผลิต” อย่างเดียว ไม่อย่างงั้น เราคงรายงานว่า GDP คือ ข้าว 100 ตัน
แต่ GDP มาจาก “มูลค่า” คือ “จำนวนการผลิต” มาคูณกับ “ราคา”
ดังนั้น สมมุติว่าปี 2567 ราคาข้าวตันละ 15,000 บาท เราจะคำนวณ GDP ได้เท่ากับ 100 ตัน x 15,000 บาท = 1,500,000 บาท
ดังนั้น Nominal GDP คือ การคำนวณ GDP โดยใช้ราคาของสินค้าและบริการในปีนั้นๆ มาใช้ในการคำนวณ
แล้วถ้าปี 2568 จำนวนผลผลิตข้าวลดลงเหลือ 90 ต้น แต่ราคาข้าว เพิ่มขึ้นเป็นตันละ 20,000 บาทละ?
เราจะคำนวณ GDP ได้ = 90 ตัน x 20,000 = 1,800,000 บาท
จะเห็นว่า Nominal GDP เพิ่มขึ้น จากปี 2567 ที่ 1,500,000 บาท เป็นปี 2568 ที่ 1,800,000 บาท
ฟังดูก็ไม่มีอะไรใช่ไหมครับ ก็ได้ค่า GDP ตามปกตินิ
แต่ความจริงเราไม่รู้ว่า เอะ การที่ GDP เพิ่มขึ้นเนี่ย มันเพิ่มเพราะอะไร ผลิตได้เยอะขึ้น หรือ ราคามันแพงขึ้นเฉยๆ
(แต่ตัวอย่างนี้ผู้อ่านรู้ เพราะผู้เขียนแจกแจงให้เห็นทั้งปริมาณและราคา จากการคำนวณ GDP ด้วยสินค้าชนิดเดียว)
การเพิ่มขึ้นของ GDP ในปี 2568 เป็นเพราะการเพิ่มของ “ราคา” (15,000 บาท/ตัน เป็น 20,000 บาท/ตัน) ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น เงินเฟ้อ เป็นต้น
แต่การผลิตในระบบเศรษฐกิจที่แท้จริงไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย แถมลดลงด้วยซ้ำ (จาก 100 เหลือ 90)
ดังนั้น Nominal GDP อาจทำให้เราเห็นภาพของเศรษฐกิจไม่ตรงตามความจริงได้ เช่น คิดว่า GDP โต แต่จริงๆ แล้วการผลิตในระบบเศรษฐกิจแย่ลงนะ ที่มันโตเพราะเงินมันเฟ้อต่างหาก เป็นต้น
ทำให้มีการคำนวณ GDP อีกชนิดหนึ่ง คือ Real GDP
Real GDP คืออะไร
Real GDP คือ การคำนวณ GDP โดยใช้ราคาปีใดปีหนึ่ง (เรียกว่าปีฐาน) มาใช้ในการคำนวณ แทนที่จะใช้ราคาตลาดของสินค้าและบริการในปีนั้นๆ
การใช้ราคาคงที่ ก็เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า GDP ที่เปลี่ยนแปลง ไมได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของ “ราคา” นะ แต่เกิดการการเปลี่ยนแปลงของการผลิตในระบบเศรษฐกิจจริงๆ
ดังนั้น ถ้าเราใช้ตัวอย่างเดิมโดยสมมุติว่า เราใช้ราคาของปี 2567 เป็นปีฐาน เราจะคำนวณ GDP ของปี 2568 ได้เท่ากับ 90 ตัน x 15000 = 1,350,000 บาท
เราเห็นภาพชัดขึ้นว่า ถ้าตัดปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ เงินฝืด ซึ่งส่งผลต่อราคาตลาดออกไปแล้ว เศรษฐกิจที่แท้จริงเป็นอย่างไร ซึ่งกรณีนี้ คือ GDP ลดลงจาก 1,500,000 บาท เหลือ 1,350,000 บาทนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม Real GDP ก็มีปัญหาอีกเช่นกัน คือ อ่าว ราคาปีฐานมันตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว แถมบางอย่างก็แพงกว่าปัจจุบันอีกนะ ทำให้เกิดการคำนวน Real GDP ด้วยวิธีการคำนวนอีกรูปแบบหนึ่งครับ
GDP แบบ CVMs คืออะไร
GDP แบบปริมาณลูกโซ่ หรือ GDP แบบ CVMs อธิบายแบบบ้านๆ คือ การคำนวณ Real GDP อีกวิธีหนึ่ง โดยปรับราคาของปีก่อนมาใช้ในปีปัจจุบันเป็นลูกโซ่ไล่ไปเรื่อยๆ
ซึ่งคำว่า CVMs ย่อมาจาก Chain Volume Measures หรือ ปริมาณลูกโซ่ นั่นเอง ซึ่งวิธีการคำนวณก็จะซับซ้อนขึ้นไปอีก เช่น ต้องมีการจัดทำมูลค่าด้วยปัจจุบัน จัดทำมูลค่าด้วยราคาปีก่อนหน้า ทำดัชนีทางตรง ดัชนีทางอ้อม แล้วไปทำ CVMs
สรุป คือ ปล่อยให้สภาพัฒน์ฯ เป็นคนคำนวณไปดีกว่าครับ 55 เราแค่รู้ว่า เดี๋ยวนี้สภาพัฒน์คำนวณ GDP โดยใช้หลักการคำนวณแบบ CVMs ซึ่งทำให้ GDP สะท้อนภาพความเป็นจริงได้ตรงมากขึ้นครับ
3. GDP คำนวณอย่างไร
การคำนวณ GDP จะทำได้ 3 วิธี คือ ด้านการผลิต (Production Approach) ด้านรายจ่าย (Expenditure Approach) และ ด้านรายได้ (Income Approach) โดยตามทฤษฏีแล้ว จะได้คำนวณ GDP จากทั้ง 3 วิธีได้ค่าเท่ากัน เพราะ
มูลค่าของสินค้าและบริการทั้งหมด (Production) = รายจ่ายเพื่อบริโภคสินค้านั้น (Expenditure) = รายได้ของเจ้าของปัจจัยการผลิต (Income)
เมื่อทั้ง 3 องค์ประกอบได้ค่าเท่ากัน เราจะคำนวณ GDP จากวิธีใด ก็จะได้ค่าเท่ากัน
ซึ่งวิธีการคำนวณ GDP ที่นิยมใช้กัน จะเป็นวิธีการคำนวณ GDP ด้านการผลิต (Production Approach) และ ด้านรายจ่าย (Expenditure Approach) ส่วนด้านรายได้ (Income Approach) จะไม่ค่อยได้รับความนิยมในการรายงานเท่าไหร่
ลองดูวิธีการคำนวณ GDP แต่ละวิธีแบบคร่าวๆ โดยเรียงตามความนิยมครับ
วิธีคำนวณ GDP ด้านรายจ่าย (Expenditure Approach)
เรามักเห็นการรายงาน GDP โดยใช้วิธีด้านรายจ่ายเป็นหลัก โดยรายงานว่า แต่ละส่วนหลักๆ ของเศรษฐกิจมีรายจ่ายอย่างไร ส่วนหลักๆ ที่ว่า ก็คือ
- รายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคครัวเรือน (Consumption: C)
- รายจ่ายการลงทุนภาคเอกชน (Investment: I)
- รายจ่ายของภาครัฐ (Government: G)
- รายจ่ายสุทธิด้านการส่งออกและนำเข้า (เอา Export หัก Import: X – M)
โดยสมการที่นักเรียนเศรษฐศาสตร์ 101 มักจำกันติดหัว เวลานึกถึง GDP ก็คือ GDP = C + I + G + (X-M)
โดยสรุป ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) หากคำนวณด้วยวิธีรายจ่าย (Expenditure Approach) จะมาจาก การรวมรายจ่ายทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ ในช่วงเวลานั้น ได้แก่ รายจ่ายการบริโภคภาคครัวเรือน + รายจ่ายภาครัฐ + รายจ่ายการลงทุนภาคเอกชน และ + การส่งออกนำเข้าสุทธิ
เมื่อนำตัวเลขทั้งหมดมารวมกันแล้ว ก็จะได้เป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในช่วงเวลานั้นๆ ครับ
วิธีคำนวณ GDP ด้านการผลิต (Production Approach)
การคำนวณ GDP อีกวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยม คือ การคำนวณด้านการผลิต (Production Approach) โดยการคำนวณด้วยวิธีนี้ จะหาผลรวมมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย ของภาคการผลิตทุกกลุ่มในประเทศ
ความยากของการคำนวณด้วยวิธีนี้ คือ เราต้องคำนวณหามูลค่าเพิ่ม (Value Added) ของสินค้าและบริการนั้น ดังนั้น การคำนวณจะต้องมีการประมาณการ ค่าใช้จ่ายขั้นกลางในการผลิต (Intermediate Costs) จึงจะทราบมูลค่าเพิ่ม คือ
มูลค่าเพิ่ม (Value Added) = มูลค่าการผลิตสินค้าและบริการ (Gross Output) หักด้วย ค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าขั้นกลาง (Intermediate Costs)
การคำนวณเฉพาะมูลค่าเพิ่ม ช่วยให้เราลดการนับซ้ำ (Double Counting) ดังตัวอย่างนี้
ขั้นตอนการผลิต | มูลค่าผลผลิตที่ขาย | มูลค่าเพิ่ม Value Added |
ปลูกส้ม | 10,000 บาท | 10,000 – 0 (สมมุติไม่มี IC) = 10,000 บาท |
เอาส้มไปทำแยม | 25,000 บาท | 25,000 – 10,000 = 15,000 บาท |
ผู้ค้าปลีกขายแยมส้ม | 30,000 บาท | 30,000 – 25,000 = 5,000 บาท |
รวม | 65,000 บาท | 30,000 บาท |
จะเห็นว่า ถ้าเรานับเฉพาะมูลค่าเพิ่ม จะได้เท่ากับมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย ซึ่งก็คือ 30,000 บาท แต่ถ้าเรานับมันทุกอัน โดยไม่คำนวณมูลค่าเพิ่ม เราจะนับได้ 65,000 บาท ซึ่งเกิดจากการนับซ้ำ (Double Counting) ครับ
การคำนวณ GDP ด้วยวิธีการผลิตนี้ เวลารายงาน จะรายงาน GDP แยกตามภาคการผลิต
ถ้าแบ่งภาคการผลิตออกเป็นภาพกว้างที่สุด จะแบ่งออกแบบ 2 ภาค คือ ภาคเกษตร (Agricultural Sector) และ ภาคนอกเกษตร (Non Agricultural Sector)
(ภาคเกษตร Hiso ปะละ แยกออกเป็นภาคการผลิตระดับกว้างสุดเลยนะ)
ซึ่ง GDP นอกภาคเกษตร จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ อุตสาหกรรม (Industry) และ บริการ (Service) หรือ ถ้าอยากจะแบ่งส่วนการผลิตให้ย่อยกว่านี้ก็ได้ แล้วแต่จะเจาะลึกถึงภาคการผลิตแค่ไหน
โดยสรุป ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) หากคำนวณด้วยด้านการผลิต (Production Approach) จะมาจากการรวมมูลค่าการผลิตใน การผลิตภาคเกษตร + การผลิตภาคอุตสาหกรรม + การผลิตภาคบริการ
วิธีคำนวณ GDP ด้านรายได้ (Income Approach)
วิธีนี้ คำนวณโดยการนำรายได้ของทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจในประเทศ โดยคำนวณจาก
- ค่าจ้าง เงินเดือน
- ค่าเช่าที่ได้รับ
- ดอกเบี้ยที่ได้รับ
- กำไรก่อนภาษี
- รายได้อื่นๆ
โดยจะมีการปรับบางรายการเพื่อให้ GDP ถูกต้องมากขึ้น เช่น การบวกกลับค่าเสื่อมราคา การบวกภาษีทางอ้อม หรือ การปรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม วิธีการคำนวณ GDP ด้วยวิธีนี้ เก็บข้อมูลยากเนื่องจากเป็นข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ที่ไม่มีใครอยากเปิดเผย ดังนั้น เราจึงมักเห็นการรายงาน GDP ด้วยวิธีที่ด้านรายจ่าย และ ด้านการผลิต เป็นหลักครับ
4. GDP Per Capita คืออะไร
GDP Per Capita คือ การคิดว่า GDP ของประเทศทั้งหมดมาหารด้วยจำนวนประชากร
ซึ่งวิธีหาก็ง่ายๆ เลย เอา GDP ของประเทศนั้นตั้ง หารด้วย จำนวนประชากรของประเทศนั้น ก็จะได้ GDP per Capita ครับ
ซึ่งการทราบ GDP per Capita ทำให้เราเห็นภาพเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ได้ชัดเจนขึ้น เพราะ GDP per Capita พอจะสื่อได้ว่า ประชากรรายคนในประเทศนั้นมีส่วนใน GDP เฉลี่ยต่อคนแล้ว ตกคนละเท่าไหร่
หรือ ประชากรรายคนในประเทศนั้น มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวแล้วตกคนละเท่าไหร่
เช่น GDP ของประเทศไทยเรา (495 พันล้านเหรียญสหรัฐ) มีขนาดใหญ่กว่าประเทศ GDP ของประเทศสิงคโปร์ (467 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เสียอีก ถ้าดูแค่นี้ คนไม่รู้ก็อาจคิดว่า เศรษฐกิจไทยดีกว่าสิงคโปร์
แต่ถ้าลองเอาจำนวนประชากรไปหาร ซึ่งประชากรของสิงค์โปร์มีประมาณ 5 ล้านกว่า ในขณะที่พี่ไทยเราเกือบ 70 ล้าน
ทำให้ GDP per Capita ของสิงคโปร์ มากกว่า GDP per Capita ของไทยเรากระฉูดครับ คือ สิงคโปร์ 82,000 USD เทียบกับ ประเทศไทย 7,000 USD ต่อประชากร 1 คน หรือต่างกันมากกว่า 10 เท่า!
ชัดเลยไหมครับ!
5. สรุป
โอ้ย ที่จริงแล้ว ผู้เขียนไม่ได้ตั้งใจจะเขียนเรื่อง GDP มาถึงจุดนี้ได้เลย จริงๆ ผู้เขียนแค่จะเขียนเรื่อง GDP ภาคเกษตรและธุรกิจเกษตรเท่านั้น แต่พอจะพูดถึงเรื่อง GDP ภาคเกษตร ก็ต้องเล่าว่าคำนวณมาจาก GDP แบบการผลิต ก็เลยเล่าเลยเถิดไปจนถึงการคำนวณ GDP ประเภทต่างๆ ไปจนถึงประเภทของ GDP ไปโน้นครับ
ถ้าอยากรู้เรื่อง GDP ลึกๆ แนะนำอ่านจากเวป สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เลยครับ
ก็ต้องขอบคุณผู้อ่านมากๆ ที่ตามอ่านจนมาถึงจุดนี้ ไว้เดี๋ยวจะมาเล่าเรื่อง GDP ของประเทศไทย รวมไปถึง GDP ของธุรกิจเกษตรประเทศไทยในบันทึกต่อๆ ไปนะ
63636363636363636363636363
อ่านมาถึงตรงนี้ก็ต้องขอบคุณผู้อ่านมากครับ เรื่อง GDP ในภาคเกษตรและธุรกิจเกษตร เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องธุรกิจเกษตร (Agribusiness) ซึ่งยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจกว่านี้อีกมาก ถ้าอยากอ่านเรื่องอื่นของธุรกิจเกษตร (Agribusiness) เรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ รวมถึงเรื่อง โมเดลธุรกิจ (Business Model) และ การสร้างคุณค่า value proposition design เพิ่มเติม สามารถอ่านได้จากหน้าสารบัญ
หากผู้อ่านอยากรู้เรื่องธุรกิจเกษตรแบบลึกซึ้ง สามารถติดต่อผู้เขียนเรื่องฝึกอบรมหรือการทำ workshop ได้ โดยสามารถดูรายละเอียดช่องทางการติดต่อผู้เขียนได้ที่ About ครับ
บันทึกนี้อยู่ในซีรีย์การลงทุน (Investment) สามารถอ่านเรื่องอื่นในซีรีย์เพิ่มเติมได้จาก link ครับ
Leave a Reply