การจะเห็นภาพรวมของ ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) ทั้งหมดได้ เราควรเข้าใจคำว่า “เกษตร (Agri)” และ “เกษตรกรรม (Agriculture)” ว่าคืออะไร วันนี้จึงชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักคำที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเกษตร ผ่านความหมายจากพจนานุกรม ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ รวมถึงความเข้าใจทั่วไป และ ความหมายในเชิงวิชาการกันครับ
1. เกษตร คืออะไร
คำว่า “เกษตร” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ หมายถึง “ที่ดิน, ทุ่ง, นา, ไร่”
ในภาษาอังกฤษ คำที่ใกล้เคียงกับคำว่า “เกษตร” คำแรก คือคำว่า “Agri-” (อ่านว่า อ๊ะ-กริ หรือ อ๊ะ-กรี) ซึ่งหมายถึง “of or relating to farming and stock raising especially as an economic activity”
แปลเป็นภาษาไทย หมายถึง “เกี่ยวข้องกับการทำฟาร์มและการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะในฐานะกิจกรรมทางเศรษฐกิจ”
(ปล. คำว่า “Agri-” เป็น combine form แปลว่า ต้องเอาไปเชื่อมกับคำอื่น เช่น นำ “Agri-” ไปเชื่อมกับ “Business” จะกลายเป็น “Agribusiness” เป็นต้น)
คำภาษาอังกฤษอีกคำ ที่มีความหมายเชื่อมโยงกับคำว่าเกษตร คือคำว่า “Farm”
คำว่า “ฟาร์ม (Farm)” ในภาษาอังกฤษ มีหลายความหมาย แต่ที่ใช้กันเยอะคือ an area of land, and the buildings on it, used for growing crops and/or keeping animals
แปลเป็นภาษาไทยว่า พื้นที่ที่ใช้ปลูกพืช และ/หรือ เก็บสัตว์
ดังนั้น คำว่า “เกษตร” เมื่อเทียบกับคำว่า “Agri-” และ “Farm” ก็พอเข้าใจได้ คือ การทำฟาร์มกับการเลี้ยงสัตว์ ก็น่าจะทำใน ที่ดิน ทุ่ง นา ไร่ แบบคำแปลในภาษาไทย
2. กสิกรรม คืออะไร
คำว่ากสิกรรม ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ แปลว่า “การทำไร่ไถนา, การเพาะปลูก” ซึ่งจากคำแปล ไม่ได้รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ด้วย
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้มีการอธิบายคำว่า “กสิกรรม” กับ “เกษตรกรรม” เพิ่มเติมไว้โดยสรุปคือ
“คำว่า กสิกรรม กับคำว่า เกษตรกรรม มีความหมายต่างกัน”
“คำว่า กสิกรรม หมายถึง การทำไร่ไถนา ใช้ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า farming”
“คำว่า เกษตรกรรม ใช้ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า agriculture หมายถึง การใช้ประโยชน์จากที่ดิน เช่นการเพาะปลูกพืชต่าง ๆ การป่าไม้ รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ และการประมงด้วย”
(อ่านต้นฉบับ ได้ที่นี่ –> กสิกรรม-เกษตรกรรม ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๐)
จากคำอธิบายกสิกรรมของราชบัณฑิต เราจึงตามไปดูคำภาษาอังกฤษ 2 คำคือ คำว่า Agriculture และ Farming กันต่อ
3. Agriculture แปลว่า อะไร
ศัพท์ภาษาอังกฤษ ที่เราน่าจะคุ้นเคยที่สุดเวลาพูดถึงคำว่า “เกษตร” คือ “Agriculture” เพราะประเทศไทยใช้คำว่า “Agriculture” เพื่อสื่อถึง “เกษตร” เยอะ เช่น
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (Ministry of Agriculture and Cooperatives)
- สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (Office of Agricultural Economics)
- ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร (Department of Agricultural and Resource Economics)
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (Bank for Agriculture and Agricultural Cooperatives)
- ฯลฯ
แล้วคำว่า Agricultural ในภาษาอังกฤษ หมายถึงอะไร? ใน Dictionary ภาษาอังกฤษ ได้อธิบายความหมายของ Agricuture ไว้ดังนี้
“the science, art, or practice of cultivating the soil, producing crops, and raising livestock and in varying degrees the preparation and marketing of the resulting products” (Merriam-Webster Dictionary)
“the science or practice of farming” (Oxford Dictionary)
- the science, art, or occupation concerned with cultivating land, raising crops, and feeding, breeding, and raising livestock; farming.
- the production of crops, livestock, or poultry. (Dictionary.com)
หรือคำแปลของ Agriculture เป็นภาษาไทย ตามพจนานุกรมแปลไทย-อังกฤษของ อ.สอ เสถบุตร
Agriculture หมายถึง “กสิกรรม การทำเรือกสวนไร่นา รวมทั้งการเลี้ยงไก่ เป็ด และการรีดนมด้วย, การเพาะปลูก, เกี่ยวกับกสิกรรม, สำหรับกสิกรรม”
จะเห็นว่า คำว่า Agriculture โดยรวมหมายถึง การปลูกพืช และ การเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม จากทั้งความหมายในภาษาอังกฤษ และ คำแปลภาษาไทย
4. Farming แปลว่า อะไร
อีกคำที่เกี่ยวข้องกับคำว่า “เกษตร” คือ “Farming” ซึ่งมีความหมายดังนี้
“the science or occupation of cultivating the soil, producing crops, and raising livestock (Merriam-Webster Dictionary)
“the action or business of cultivating crops, raising livestock, etc” (Oxford Dictionary)
“the business or activity of raising animals, growing crops, etc. on a farm:” Cambridge Dictionary
ซื่งดูจากความหมายแล้ว คำว่า Farming จะหมายถึง การปลูกพืช และ การเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม เช่นกัน
ในภาษาอังกฤษ คำว่า Agriculture และคำว่า Farming ยังเป็นคำ Synonyms (คำที่มีความหมายเหมือนกัน หรือใกล้เคียงกันมาก ใช้ทดแทนกันได้)
จึงอาจกล่าวโดยอนุโลมได้ว่า Agriculture กับ Farming มีความหมายใกล้เคียงกัน เหมือนกัน ใช้ทดแทนกันได้
5. เกษตรกรรม (Agriculture) คืออะไร
หลังจากอ่านคำที่เกี่ยวข้องมาหลายคำ ก็มาถึงคำว่า “เกษตรกรรม” เสียที ว่าคืออะไร
“เกษตรกรรม” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ คือ “การใช้ที่ดินเพาะปลูกพืชต่างๆ รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ การประมง และการป่าไม้”
จะเห็นว่า คำว่า “เกษตรกรรม” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้รวมไปถึงกิจกรรมอื่นอีก 2 กิจกรรม นอกจากการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ คือ “การประมง” และ “การป่าไม้” ด้วย
ซึ่งหากเราย้อนไปดูความหมายของ Agriculture ที่เรามักใช้แทนคำว่าเกษตร จะไม่ตรงกัน
เนื่องจาก “Agriculture” ในภาษาอังกฤษจะหมายถึงเพียง “การเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์”
แต่ “เกษตรกรรม” ในภาษาไทย จะหมายรวมไปถึง “การเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ + การประมง และ การป่าไม้“ ด้วย
6. Agriculture แปลว่า เกษตรกรรม ไหม?
เมื่อภาษาไทย และ ภาษาอังกฤษ มันมีความหมายไม่ตรงกันตามพจนานุกรมของแต่ละภาษา ตามหัวข้อข้างต้น
เราจึงย้อนไปดูว่า แล้วในภาษาอังกฤษในบริบทด้านธุรกิจหรือด้านเศรษฐกิจ คำว่า Agriculture เค้าจะหมายรวมถึง การป่าไม้ และ การประมง ด้วยหรือเปล่า
ซึ่งพบว่า Agriculture ก็ยังหมายถึงเฉพาะแค่กิจกรรม “การเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์” เท่านั้น
เช่น การจัดหมวดหมู่ประเภทอุตสาหกรรมนานาชาติ คือ The International Standard Industrial Classification of All Economic Activities (ISIC) โดยองค์การสหประชาชาติ (United Nation: UN) ซึ่งเป็นมาตรฐานกลางในการกำหนดประเภทอุตสาหกรรม (ประเทศไทยก็กำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมตามมาตรฐานนี้ อ่านเพิ่มเติมที่ –> TSIC คืออะไร)
เราจะพบว่า “Agriculture” ตาม ISIC จะหมายถึง “การเพาะปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์” เท่านั้น และเวลาเค้าจะรวมกิจกรรม “การประมง” และ “การป่าไม้” ก็จะใช้คำแยกไปเลย คือ ใช้คำว่า “Fishing หรือ Fisheries (การประมง)” และ “Forestry (การป่าไม้)”
ซึ่งมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทย (TSIC) แปลโดยใช้มาตรฐาน ISIC ก็เลยต้องใช้คำว่า “เกษตรกรรม ป่าไม้ และ การประมง” ไปด้วย ทั้งๆ ที่ ถ้าดูตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแล้ว คำว่า “เกษตรกรรม” ของประเทศไทย ก็รวม “ป่าไม้ และ ประมง” ไปแล้ว ดังแสดงในตาราง
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ | ISIC | TSIC |
เกษตรกรรม หมายถึง “การใช้ที่ดินเพาะปลูกพืชต่าง ๆ รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ การประมง และการป่าไม้” | Agriculture, forestry and fishing | เกษตรกรรม ป่าไม้ และการประมง |
ใช้คำว่า “เกษตรกรรม” คำเดียว หมายรวมถึงกิจกรรมทั้งการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การประมง และ การป่าไม้ | ใช้คำว่า “Agriculture” เพื่อสื่อถึงเฉพาะการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เท่านั้น โดยหากจะหมายถึง การป่าไม้ (Forestry) และ การประมง (Fishing) จะใช้คำแยกออกมา | ใช้คำว่า “เกษตรกรรม” เพื่อสื่อถึงเฉพาะการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ โดยหากจะหมายถึง การป่าไม้ และ การประมง จะใช้คำแยกออกมา |
หรือ การไปดูบริบทของคำว่า Agriculture ในวารสารวิชาการ ต่างก็หมายถึงเฉพาะ “การปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์” เท่านั้น เช่น Sustainable Agriculture ก็เน้นเรื่องการทำฟาร์มยั่งยืน หรือ Agricultural Technology ก็เน้นเรื่อง เทคโนโลยีการทำฟาร์ม เป็นต้น
จึงพอจะสรุปได้คร่าวๆ ว่า คำว่า Agriculture ในภาษาอังกฤษ หมายถึงเฉพาะการเพาะปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ ถ้าจะรวมอีก 2 กิจกรรมหลักเข้าไปด้วย จะใช้คำว่า Agriculture, Forestry and Fishing ดังนี้
7. Agriculture, Forestry and Fishing คือ อะไร
เมื่อ “Agriculture” หมายถึงเฉพาะแค่ “การเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์”
ในบริบทภาษาอังกฤษ แล้วเวลาเค้าต้องการสื่อถึง Agriculture ให้รวมถึง “การป่าไม้ (Forestry)” และ “การประมง (Fishery)” เหมือนคำว่า “เกษตรกรรม” ของประเทศไทย เค้าทำยังไง
คำตอบคือ เค้าจะเรียกเป็นกลุ่มคำว่า “Agriculture, Forestry and Fishing” หรือ “Agriculture, Fisheries, and Forestry” บางทีเรียกย่อว่า AFF
ตัวอย่างเช่น
- กระทรวงเกษตรของประเทศออสเตรเลีย ใช้คำว่า Department of Agriculture, Fisheries and Forestry
- กระทรวงเกษตรของประเทศญี่ปุ่น ใช้คำว่า Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries (MAFF)
- การคำนวนสถิติต่างๆ ขององค์กรนานาชาติ เช่น FAO หรือ World Bank ก็ใช้คำว่า Agriculture, forestry, and fishing ในรายงานต่างๆ เป็นต้น
- หรือ US Department of Agriculture (USDA) ก็แยก Forestry & Fishing’s ออกมาต่างหาก จากการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ (farms) เวลาคำนวน GDP
จึงกล่าวได้ว่า ถ้าจะสื่อคำว่า “เกษตรกรรม” ในความหมายภาษาไทยในภาษาอังกฤษ จะใช้คำว่า เกษตรกรรม = Agriculture เฉยๆ ไม่ได้ แต่ต้องใช้ว่า เกษตรกรรม = “Agriculture, Forestry and Fishing” ครับ
8. สรุป
ผู้เขียนยอมรับว่า นี้เป็นบันทึกที่ปวดหัวในการเขียน และการหาข้อมูลมากๆๆ และใช้เวลาเขียนนานมากด้วย เพราะว่ามันมีความสับสนแม้แต่ในภาษาอังกฤษเองในบางบริบท
เลยขอสรุปเป็นข้อ ดังนี้
- คำว่า “เกษตรกรรม” ตามพจนานุกรม หมายรวมถึง 4 กิจกรรม คือ “1. การใช้ที่ดินเพาะปลูกพืชต่าง ๆ รวมทั้ง 2. การเลี้ยงสัตว์ 3. การประมง และ 4. การป่าไม้”
- ส่วน “Agriculture” ในภาษาอังกฤษ โดยส่วนใหญ่ หมายถึงแค่ 2 กิจกรรม คือ 1. การปลูกพืช และ 2. การเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม
- เวลาจะพูดให้ “Agriculture” ในภาษาอังกฤษ ให้มีความหมายตรงกับคำว่า “เกษตรกรรม” ของประเทศไทย เค้าจะต้องพูดยาวกว่า คือ ต้องพูดว่า “Agriculture, Forestry and Fishing” ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันทั่วไปในภาษาอังกฤษ
- คนไทยเจ๋ง เพราะย่อสั้น จบปิ้ง ไม่ต้องยึดยาว เรียก “เกษตรกรรม” คำเดียว ครอบคลุมคำยาวๆ ของภาษาอังกฤษได้เลย
- อย่างไรก็ตาม ก็ต้องระวังนิดนึง เวลาต้องการสื่อสารคำว่า “เกษตรกรรม” ในภาษาอังกฤษด้วยคำว่า “Agriculture” อย่างเดียว โดยเฉพาะในเชิงวิชาการ เพราะหากคำนิยามไม่ตรงกัน จะพูดกันคนละเรื่อง
ส่วนตรงนี้ เป็นเรื่องข้อสังเกตด้าน Technical Term คือ
- คำว่า “Agriculture” จะแปลว่า “กสิกรรม” ก็ไม่ตรงเสียทีเดียว เพราะ Agriculture รวม 2 กิจกรรม (เพาะปลูก+เลี้ยงสัตว์) ในขณะที่คำว่า กสิกรรม มีกิจกรรมเดียว (เพาะปลูก)
- ปัจจุบัน เราไม่มีคำภาษาไทยตรงๆ ที่หมายถึง Agriculture ของภาษาอังกฤษ ที่มี 2 กิจกรรม (เพาะปลูก + เลี้ยงสัตว์) เพราะ กสิกรรม คือ 1 กิจกรรม (เพาะปลูก) ส่วน เกษตรกรรม คือ 4 กิจกรรม (เพาะปลูก+เลี้ยงสัตว์+ป่าไม้+ประมง)
- ถ้าจะสื่อเฉพาะแค่ Agriculture (เพาะปลูก + เลี้ยงสัตว์) คนไทยพูดว่า “การกสิกรรมและการปศุสัตว์” หรือเปล่านะ?
ปล. ผู้เขียนไม่เชี่ยวชาญด้านภาษาทั้งไทยและอังกฤษ แค่จะดูเรื่องธุรกิจเกษตร ไม่รู้ลามมาถึงนิยามศัพท์ในพจนานุกรมได้ยังไงก็ไม่รู้ หากผู้เขียนเข้าใจอะไรผิด สามารถแจ้งผู้เขียนได้เลยนะครับ
9. สรุปใช้ เกษตรกรรม (Agriculture) ได้ไหม
ก่อนจบๆๆ
แล้วเราจะยังใช้คำว่า เกษตรกรรม = Agriculture ได้ไหม? ทั้งๆ ที่มันไม่ได้ตรงกันสะทีเดียว (แต่ชื่อบันทึกก็ใช้ไปแล้วนะ)
ส่วนตัว คิดว่า ใช้ได้! (ก็ใช้ไปแล้ว) เพราะ
- คนปกติทั่วไปคงอุทานว่า นี่พวกเอ็งทำอะไรกันวะ (นั่นสิ) เค้าคงไม่มาสนใจว่าเกษตรกรรมมันต้องมีอะไรบ้าง เพราะสำหรับบางคน เกษตร ก็คือ เกษตร เกษตรกรรม คือ ปลูกพืช ปลูกข้าว เท่านั้น ไม่ได้นึกถึงการเลี้ยงสัตว์เลย อย่าว่าแต่ ป่าไม้ ประมง อะไรนั่น
- พจนานุกรมบางฉบับ ก็แปลคำว่า Agriculture ว่า เกษตรกรรม (บางฉบับแปล Agriculture ว่า เกษตรกรรม, กสิกรรม ทั้งคู่ก็มี)
- หน่วยงานราชการและเอกชน เวลาตั้งชื่อหน่วยงาน ก็แปล เกษตรกรรม ว่า Agriculture แปล Agriculture ว่าเกษตรกรรม
สรุป ใช้ทั่วๆ ไปได้ จบ แค่ระวังว่าตอนใช้ว่า เกษตรกรรม ที่ว่า รวมป่าไม้และประมงด้วยหรือเปล่า แค่นั้น
แต่..ถ้าจะใช้กับงานด้านวิชาการ โดยเฉพาะกับต่างประเทศ ก็ต้องดูให้ละเอียดขึ้นว่า Agriculture เค้าเหมือน Agriculture เราหรือเปล่าครับ
ปล2. ยังมีคำอื่นชวนปวดหัวอีกเยอะ เช่น Agri-Food, Arboriculture, Agribusiness VS Agriculture, เกษตรกร, ชาวนา ฯลฯ ขนาดฝรั่งเองยังต้องมีบทความวิชาการอธิบาย (อยากอ่านไปดู References ล่างสุดได้) ไว้วันหลังจะชวนปวดหัวอีกนะครับ
636363636363636363636363
อ่านมาถึงตรงนี้ก็ต้องขอบคุณผู้อ่านทุกคนมาก ถ้าอยากอ่านเรื่อง ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) เพิ่มเติม รวมไปถึงการออกแบบคุณค่า (Value Proposition Design) และนวัตกรรมโมเดลธุรกิจ (Business Model Innovation) ให้กับธุรกิจเกษตรและธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติม สามารถอ่านได้จากหน้าสารบัญ
หากผู้อ่านอยากรู้เรื่อง การออกแบบโมเดลธุรกิจ (Business Model Design) ให้กับ ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) แบบลึกซึ้ง สามารถติดต่อผู้เขียนเรื่องฝึกอบรมหรือการทำ workshop ได้ โดยสามารถดูรายละเอียดช่องทางการติดต่อผู้เขียนได้ที่ About ครับ
บันทึกนี้อยู่ในซีรีย์ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก Link
Agribusiness
Agribusiness Series
- ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) คืออะไร
- เกษตรกรรม (Agriculture) คืออะไร
- ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) กับ เกษตรกรรม (Agriculture) ต่างกันอย่างไร
- ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) แบบเกษตรกรรม (Agriculture) มีกี่ประเภท
- ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) แบบเกษตรกรรม (Agriculture) มีกี่ประเภท แบบเจาะลึก
Agribusiness x Business Model Series
- โมเดลธุรกิจของธุรกิจเกษตร (Agribusiness Business Model)
- โมเดลธุรกิจเกษตร (Agribusiness Business Model): ขายเกษตรกร
- โมเดลธุรกิจเกษตรแบบเกษตรกรรม (Agricultural Business Model)
- โมเดลธุรกิจเกษตร (Agribusiness Business Model): ซื้อจากเกษตรกร
Agribusiness x Food Series
References:
Leave a Reply