ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) แบบเกษตรกรรม (Agriculture) มีกี่ประเภท

by

— last updated:

first published:

ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) มีอะไรบ้าง ตอนที่ 1

หลังจากที่เรารู้วิธีการแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมของประเทศไทย (TSIC) แล้ว (แนะนำให้อ่าน TSIC คืออะไร ก่อนนะครับ) วันนี้เรามาดูกันว่า หากเรานำหลัก TSIC มาจัดกลุ่มธุรกิจเกษตร (Agribusiness) โดยในบันทึกนี้ จะดูเฉพาะธุรกิจเกษตรกลุ่มที่เป็นเกษตรกรเสียเอง หรือ “เกษตรกรรม (Agriculture)” เราจะจัดกลุ่มธุรกิจเกษตรได้กี่กลุ่ม เป็นอะไรได้บ้าง

1. การจัดประเภทธุรกิจเกษตร (Agribusiness) แบบ เกษตรกรรม (Agriculture) ด้วย TSIC คืออะไร

TSIC คือ การมาตรฐานการจัดหมวดหมู่อุตสาหกรรมของประเทศไทย (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ —> TSIC คืออะไร) โดย TSIC ได้จัดหมวดหมู่อุตสาหกรรมเป็นระบบ คือ หมวดใหญ่ หมวดย่อย หมู่ใหญ่ หมู่ย่อย และกิจกรรม เพื่อประโยชน์ในการเก็บข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแต่ละประเภท

การจัดประเภทธุรกิจเกษตรด้วย TSIC ก็คือ เราจะดูว่า ธุรกิจเกษตรในหมวด เกษตรกรรม (Agriculture) ถูกจัดหมวดหมู่ตาม TSIC ไว้กี่ประเภทนั่นเองครับ

2. ประเภทธุรกิจเกษตร (Agribusiness) ตามหมวดใหญ่ (Section)

สำหรับการเกษตร TSIC ได้จัดให้กิจกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรอยู่ในหมวดใหญ่ (Section) เดียวกัน โดยจัดอยู่ใน

หมวดใหญ่ (Section) A เกษตรกรรม ป่าไม้ และ ประมง

หมวดใหญ่ (Section) เป็นหมวดใหญ่ที่สุดของการจัดประเภทอุตสาหกรรม ที่แบ่งประเภทอุตสาหกรรมหลักๆ ออกเป็น 21 ประเภท

ตัวอย่างหมวดใหญ่อื่นๆ เช่น หมวดใหญ่ B (เหมืองแร่) หมวดใหญ่ C (การผลิต) หมวดใหญ่ F (การก่อสร้าง) หมวดใหญ่ I (ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร) เป็นต้น

ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) มีกี่ประเภท: การแบ่งหมวดใหญ่ (Section) ตาม TSIC โดยธุรกิจเกษตรถูกจัดอยู่ในหมวด A (ที่มา: การจัดทำข้อมูล GDP และข้อมูล GPP ของประเทศไทย โดย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)
ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) มีกี่ประเภท: การแบ่งหมวดใหญ่ (Section) ตาม TSIC โดยธุรกิจเกษตรถูกจัดอยู่ในหมวด A (ที่มา: การจัดทำข้อมูล GDP และข้อมูล GPP ของประเทศไทย โดย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)

บันทึกนี้เราจะเจาะลึกเฉพาะ Section A กันครับ

ดังนั้นถ้าแบ่งธุรกิจเกษตรตามหมวดใหญ่ สรุปว่าแบ่งได้ 1 ประเภท คือ

  1. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง

3. ประเภทธุรกิจเกษตร (Agribusiness) ตามหมวดย่อย (Division)

ในหมวดใหญ่ A เกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง สามารถแบ่งออกได้อีกเป็นหมวดย่อย (Division) ได้อีก ถ้าลองเจาะดูหมวดย่อยของของหมวดใหญ่ (Section) A เกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง จะแบ่งออกเป็น 3 หมวดย่อย คือ

  • 01: การเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ การล่าสัตว์ และกิจกรรม บริการที่เกี่ยวข้อง
  • 02: ป่าไม้และการทำไม้
  • 03: การประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ก็คือ เอาชื่อหมวดใหญ่ (Section) มาแตกเป็นหมวดย่อย (Division) แล้วขยายความเพิ่มเติมนั่นเอง

ดังนั้น ถ้าเราแบ่งธุรกิจเกษตรว่ามีกี่ประเภท โดยอ้างอิงจากหมวดย่อย จะตอบได้ว่า 3 ประเภทครับ ได้แก่

  1. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การล่าสัตว์ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
  2. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้และการทำไม้
  3. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

4. ประเภทธุรกิจเกษตร (Agribusiness) ตามหมู่ใหญ่ (Group)

ลองไปดูละเอียดขึ้นไปอีก คือ ไปดูหมู่ใหญ่ (Group) ของแต่ละหมวดย่อย (Division) ที่มีอยู่ 3 หมวดย่อย ว่าแบ่งเป็นอะไรได้อีกบ้าง

ลองไปดูหมวดย่อยแรก คือ

01 (การเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ การล่าสัตว์ และ กิจกรรมบริการที่เกี่ยวข้อง)

ในหมวดนี้ สามารถแบ่งเป็นหมู่ใหญ่ (Group) ได้เป็น 7 หมู่ใหญ่ ดังนี้

(ปล. คำอธิบายรายละเอียดของธุรกิจในแต่ละกลุ่ม ผู้เขียนนำมาจาก “คำอธิบายการจัดประเภทอุตสาหกรรมตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ” จาก รายงาน TSIC โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ” ซึ่งจัดทำโดย กลุ่มมาตรฐานสถิติ สำนักบริหารจัดการระบบสถิติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ครับ)

ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) มีกี่ประเภท: การปลูกข้าว ถือเป็นกิจกรรมใน 011 การปลูกพืชล้มลุก
ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) มีกี่ประเภท: การปลูกข้าว ถือเป็นกิจกรรมใน 011 การปลูกพืชล้มลุก ในการแบ่งกลุ่มธุรกิจเกษตรตาม TSIC

011 พืชล้มลุก

ในหมู่ใหญ่นี้ได้แก่ การปลูกพืชล้มลุก (พืชที่มีอายุไม่เกิน 2 ฤดูกาลเพาะปลูก) เช่น ธัญพืชทุกชนิด พืชตระกูลถั่ว พืชที่เมล็ดให้น้ำมัน พืชผักสวนครัว อ้อย ยาสูบ พืชที่ให้เส้นใย ไม้ดอก และพืชล้มลุกอื่นๆ รวมถึง การปลูกพืชเพื่อวัตถุประสงค์ในการผลิตเมล็ดพันธุ์

012 พืชยืนต้น

ในหมู่ใหญ่นี้ได้แก่ การปลูกพืชยืนต้น ซึ่งหมายถึง พืชที่มีอายุการปลูกเกิน 2 ฤดูกาล ไม่ว่าจะแห้งตาย หลังจากสิ้นสุดแต่ละฤดูกาล หรือเจริญเติบโตต่อไป รวมถึงการปลูกพืชเหล่านี้เพื่อเอาเมล็ดพันธุ์ ได้จัดประเภทไปตามชนิดของพืชในหมู่ย่อยต่างๆ

013 การขยายพันธ์พืช

ในหมู่ใหญ่นี้ได้แก่ การทำสวนไม้ประดับ การผลิตกิ่งชำ หน่อ และกล้าไม้เพื่อการขยายพันธุ์ หรือ นำมาทำกิ่งพันธุ์โดยการติดตา ทาบกิ่ง หรือตอนกิ่ง เพื่อนำไปปลูกต่อไป

014 การผลิตสัตว์

ในหมู่ใหญ่นี้ได้แก่ การเลี้ยง (การทำฟาร์ม) การเพาะพันธุ์ และการผสมพันธุ์สัตว์ทุกชนิด (ยกเว้นสัตว์น้ำ) รวมถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลพลอยได้จากการทำฟาร์มปศุสัตว์ เช่น ขนสัตว์และหนังสัตว์ ได้จัดประเภทไปตามชนิดของสัตว์ที่เลี้ยง

015 การทำฟาร์มผสมผสาน

การทำฟาร์มแบบผสมผสานระหว่างการปลูกพืชร่วมกับการเลี้ยงสัตว์ โดยไม่ได้ทำการปลูกพืช หรือเลี้ยงสัตว์อย่างหนึ่งอย่างใดเป็นพิเศษ หมายถึง การปลูกพืชหรือการเลี้ยงสัตว์อย่างใดอย่าง หนึ่งไม่เกิน 2 ใน 3 (น้อยกว่า 66 เปอร์เซ็นต์) ของกิจกรรมทั้งหมด

016 กิจกรรมสนับสนุนการเกษตรและกิจกรรมหลังการเก็บเกี่ยว

ในหมู่ใหญ่นี้ได้แก่ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตทางการเกษตรและกิจกรรมที่คล้ายกับการเกษตร แต่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการผลิต (การเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร) ที่กระทำโดยได้รับค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้าง รวมถึงกิจกรรมหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการเตรียมผลผลิตทางการเกษตรเพื่อจำหน่ายในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตร

017 การล่าสัตว์การดักสัตว์และกิจกรรมบริการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

การล่าสัตว์ การดักสัตว์ และกิจกรรมบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในกิจกรรมนี้ได้แก่

  • การล่าสัตว์และการดักสัตว์เพื่อการพาณิชย์
  • การนำสัตว์ที่ล่าหรือดักได้ทั้งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตเพื่อเป็นอาหาร ทำขนสัตว์ ทำหนังสัตว์ ใช้
  • ประโยชน์ในงานวิจัย ไว้ในสวนสัตว์ หรือเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน
  • การผลิตขนสัตว์ หนังสัตว์เลื้อยคลาน หรือขนนกที่ได้จากการล่าสัตว์หรือการดักสัตว์
  • การจับสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนมบนบก เช่น วอลรัสและแมวน้ำ

ส่วนในหมวดย่อยที่ 2 คือ

02 (ป่าไม้และการทำไม้)

สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 หมู่ใหญ่ ดังนี้

021 วนวัฒนวิทยา และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวกับป่าไม้

  • การปลูกไม้ป่ายืนต้น รวมถึง การปลูกทดแทน การย้ายไปปลูกที่ใหม่ การตัดสางขยายระยะการอนุรักษ์ป่า และการดูแลทางเพื่อชักลากไม้
  • การปลูกป่าละเมาะ
  • การปลูกไม้ทำเยื่อกระดาษและไม้ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง (ฟืน)
  • การเพาะพันธุ์/ขยายพันธุ์กล้าไม้ป่า

022 การทำไม้

การแปรรูปไม้จากป่าในขั้นต้น หรือ ในลักษณะหยาบๆ ซึ่งผลผลิตของกิจกรรมนี้ อยู่ในรูปของไม้ซุง ชิ้นไม้ หรือไม้ฟืน

023 การเก็บหาของป่า

การเก็บหาของป่า (ที่ไม่ใช่ไม้) และพืชอื่นๆ ที่ขึ้นในป่า เช่น

  • เห็ดชนิดมัชรูมและชนิดทรัฟเฟิล
  • ไม้ไผ่ หน่อไม้ หวาย กก เปลือกไม้ สมุนไพร ผลไม้ป่า ดอกไม้ป่า และรากไม้
  • เบอร์รี่ ผลไม้เปลือกแข็ง (นัท)
  • เถาวัลย์ ผลโอ๊ก เมล็ดเกาลัด
  • ไม้ก๊อก ครั่ง ยางสน บาลาตา และกัมที่เหมือนยางอื่นๆ
  • ชันหอม ปุยพืช มอสและไลเคน

024 การบริการที่สนับสนุนการป่าไม้

การบริการที่สนับสนุนการป่าไม้ ที่ดำเนินการโดยได้รับค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้าง เช่น การสำรวจทรัพยากรป่าไม้, การบริการให้คำปรึกษาด้านการจัดการป่าไม้ม, การประเมินคุณภาพไม้, การดับไฟป่าและการป้องกันไฟป่า, การควบคุมแมลงศัตรูป่าไม้

และยังรวมถึง กิจกรรมบริการทำไม้, การชักลากท่อนซุงภายในป่า, การให้เช่าเครื่องจักรและอุปกรณ์การป่าไม้ โดยมีผู้ควบคุม


และถ้าไปเจาดูหมวดย่อยสุดท้าย คือ

03 (การประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ)

จะพบว่าแบ่งออกได้อีกเป็น 2 หมู่ใหญ่ ดังนี้

ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) มีกี่ประเภท: การประมง ถือเป็นกิจกรรมใน 031 ในการแบ่งกลุ่มธุรกิจเกษตรตาม TSIC
ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) มีกี่ประเภท: การประมง ถือเป็นกิจกรรมใน 031 ในการแบ่งกลุ่มธุรกิจเกษตรตาม TSIC

031 การประมง

ในหมู่ใหญ่นี้ได้แก่ “การจับสัตว์น้ำ” คือ การล่า การจับ และการหาเพื่อเคลื่อนย้ายหรือเก็บรวบรวม สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในน้ำ (โดยเฉพาะปลา สัตว์น้ำจำพวกโมลลุสก์และครัสตาเซีย) รวมถึงพืชในทะเล ชายฝั่งทะเล หรือ ในแหล่งน้ำจืด ทั้งเพื่อใช้เป็นอาหารของมนุษย์และเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ โดยใช้มือหรืออุปกรณ์จับสัตว์น้ำต่างๆ
(เช่น ตาข่าย เบ็ด อวน แห) และเครื่องมือชนิดวางประจำที่อื่นๆ (เช่น ลอบ สะดุ้ง)

ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้สามารถกระทำได้ตามแนวชายฝั่งทะเลที่มีระดับน้ำขึ้นลง (เช่น การจับหอยสองฝา หอยนางรม หรือหอยมุก) หรือตามชายฝั่งทั่วไปโดยใช้ตาข่ายหรือเครื่องมือขุดหาที่ทำขึ้นเอง หรือโดยส่วนใหญ่มักใช้เรือประมงพาณิชย์ทำการประมงตามชายฝั่งหรือในทะเล

การจับสัตว์น้ำแตกต่างจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (หมู่ใหญ่ 032) ตรงที่สัตว์น้ำที่จับจากแหล่งธรรมชาติถือเป็นทรัพยากรที่ทุกคนมีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยไม่คำนึงถึงสิทธิในการใช้ประโยชน์ว่าถูกต้องหรือไม่ นอกจากนี้กิจกรรมดังกล่าวยังรวมถึงการจับสัตว์น้ำในแหล่งน้ำที่มีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงไปด้วย

032 การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ในหมู่ใหญ่นี้ได้แก่ “การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” (หรือการทำฟาร์มสัตว์น้ำ) เป็นกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการเพาะเลี้ยงหรือการทำฟาร์มสิ่งมีชีวิตในน้ำ (เช่น ปลา สัตว์น้ำจำพวก ครัสตาเซียและ โมลลุสก์ พืชน้ำ สัตว์จำพวกจระเข้ และสัตวครึ่งบกครึ่งน้ำ) รวมถึงการเก็บผลผลิต โดยใช้เทคนิคต่างๆ ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อเพิ่มผลผลิตให้สูงกว่าที่สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ (เช่น การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงเลี้ยง การให้อาหาร และการป้องกัน/กำจัดศัตรูที่มาจับกิน)

การเพาะเลี้ยง/การทำฟาร์มสัตว์น้ำ หมายถึง การเลี้ยงดูสิ่งมีชีวิตข้างต้น ในระยะตัวอ่อนและ/หรือโตเต็มวัย จนได้ขนาดในพื้นที่จำกัด/พื้นที่ล้อมขัง นอกจากนี้คำว่า “การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” ยังครอบคลุมถึงกิจกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแต่ละชนิดที่บุคคล บริษัท หรือรัฐ เป็นเจ้าของดำเนินการตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงจนโตและรวมถึงการเก็บผลผลิตหรือจับขาย


ดังนั้น ถ้าตอบว่าธุรกิจเกษตรมีกี่ประเภท ถ้าใช้หมู่ใหญ่เป็นเกณฑ์ ก็ตอบได้ว่า แบ่งได้เป็น 13 ประเภท (7+4+2) ตามรายละเอียดด้านบนครับ

แค่นี้ เราๆ ท่านๆ ก็อาจจะมึนแล้ว แต่เดี๋ยวก่อน เรายังแบ่งให้ละเอียดกว่านี้ได้อีกถ้าแบ่งต่อไปเรื่อยๆ มันก็จะละเอียดขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน จึงขอยกส่วนการแบ่งกลุ่มที่ละเอียดกว่านี้ ไปต่อกันในบันทึกหน้า

ขอสรุปสั้นๆ สำหรับการแบ่งประเภทธุรกิจเกษตร ในหมวดการเกษตรกรรม (Agriculture) หรือ ธุรกิจเกษตรประเภทการเป็นเกษตรกรเอง จะแบ่งได้ดังนี้ครับ

ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) แบ่งออกได้เป็น 1 ประเภท ถ้าแบ่งตามหมวดใหญ่ (Section)

ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ถ้าแบ่งตามหมวดย่อย (Division)

ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) แบ่งออกได้เป็น 13 ประเภท ถ้าแบ่งตามหมู่ใหญ่ (Group)

บันทึกหน้า เรามาดูกันต่อ ว่าถ้าเจาะลึกไปอีก จะแบ่งธุรกิจเกษตรได้เป็นกี่ประเภท (อ่านต่อได้เลย คลิกที่นี่ –> ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) มีกี่ประเภท แบบเจาะลึก)

6363636363636363636363

อ่านมาถึงตรงนี้ก็ต้องขอบคุณผู้อ่านมากครับ การจัดประเภทธุรกิจเกษตรเป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) ซึ่งยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมาก ถ้าอยากอ่านเรื่องอื่นของธุรกิจเกษตร การสร้างคุณค่า value proposition design, business model รวมถึงเรื่อง strategy เพิ่มเติม สามารถอ่านได้จากหน้าสารบัญ 

หากผู้อ่านอยากรู้เรื่องธุรกิจเกษตรแบบลึกซึ้ง สามารถติดต่อผู้เขียนเรื่องฝึกอบรมหรือการทำ workshop ได้ โดยสามารถดูรายละเอียดช่องทางการติดต่อผู้เขียนได้ที่ About ครับ


โสภณ แย้มกลิ่น (Sophon Yamklin) Avatar

References :