หมวดหมู่อุตสาหกรรมของ SET 2

by

— last updated:

first published:

ตลาดหลักทรัพย์ (SET) จัดกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างไร ตอนที่ 2

จากบันทึกที่แล้ว เราได้อ่านการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตอนที่ 1 ซึ่งเป็นการจัดกลุ่มของเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารไปแล้ว วันนี้เราลองมาดูกลุ่มอุตสาหกรรมที่เหลือกันบ้าง ว่า SET จัดกลุ่มอุตสาหกรรมที่เหลือเป็นอะไรบ้าง

2. สินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Products)

ได้แก่ ธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายสินค้า เพื่อการอุปโภคบริโภคต่างๆ ทั้งที่เป็นสินค้าจำเป็นและสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่ง SET ได้แบ่งหมวดธุรกิจเป็นดังนี้ครับ

2.1 แฟชั่น (Fashion)

เป็นผู้ผลิต ออกแบบ ตัวแทนจำหน่ายสินค้า

  • เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องหนัง กระเป๋า
  • เจียระไนและแปรรูปอัญมณี เครื่องประดับต่าง ๆ
  • ผลิตวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมนี้ เช่น เส้นใย เส้นด้าย ฟอกหนัง เป็นต้น

(เส้นใย เส้นด้าย ฟอกหนัง มีธุรกิจเกษตรอยู่ใน Value Chain ครับ จึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจเกษตรปะปนอยู่ด้วย)

2.2 ของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน (Home & Office Products)

  • ผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายของใช้ในครัวเรือน เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่ง-บ้าน อุปกรณ์กีฬา ของเล่น และเครื่องครัว เป็นต้น
  • ผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ส่องสว่าง เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและสำนักงาน เช่น โทรทัศน์ เครื่องเสียง เครื่องถ่ายเอกสาร เป็นต้น
  • ผู้ผลิตของใช้สำนักงาน เช่น ปากกา แฟ้มเอกสารต่าง ๆ

(กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ อาจเกี่ยวข้องกับธุรกิจเกษตรกลุ่มป่าไม้ ได้อยู่หน่อยๆ ครับ)

2.3 ของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ (Personal Products & Pharmaceuticals)

  • ประกอบด้วยผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่าย
  • สินค้าเพื่อการอุปโภคส่วนตัวต่าง ๆ เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวพรรณ น้ำหอม ผ้าอ้อม กระดาษชำระ
  • ยา เครื่องมือทางการแพทย์ สินค้าที่ใช้ ไบโอเทคโนโลยีต่างๆ

(เครื่องสำอาง ยา bio-tech บางประเภทก็มีธุรกิจเกษตรอยู่ใน value chain ครับ)


3. ธุรกิจการเงิน (Financials)

อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับผู้ให้บริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ

3.1 ธนาคาร (Banking)

ผู้ประกอบธุรกิจธนาคารตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกิจการในลักษณะเดียวกัน ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายพิเศษ

3.2 เงินทุนและหลักทรัพย์ (Finance & Securities)

ผู้ประกอบธุรกิจบริษัทเงินทุน ลิสซิ่ง เช่าซื้อ (โดยไม่เป็นผู้ให้บริการหรือขายสินค้าแก่ลูกค้าโดยตรง) แฟกเตอริ่ง บัตรเครดิต สินเชื่อเพื่อการบริโภค บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บรรษัทบริหารสินทรัพย์ และผู้ให้บริการด้านธุรกิจหลักทรัพย์อื่นๆ

3.3 ประกันภัยและประกันชีวิต (Insurance)

ผู้ประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.ประกันภัย พ.ร.บ.ประกันชีวิต รวมทั้งกิจการในลักษณะเดียวกันที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายพิเศษ

(กลุ่มธุรกิจการเงินโดยภาพรวมอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจเกษตรบ้างตรงการสนับสนุนด้านสินเชื่อธุรกิจเกษตรได้ แต่ไม่ได้เกี่ยวกับ value chain ของธุรกิจเกษตรโดยตรงครับ )


4. สินค้าอุตสาหกรรม (Industrials)

กลุ่มอุตสาหกรรมที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจัดจำหน่ายวัตถุดิบทั่วไปที่สามารถนำไปใช้ได้ในหลายอุตสาหกรรม สินค้าขั้นต้นหรือสินค้าขั้นกลาง เครื่องมือและเครื่องจักรต่างๆที่นำไปใช้ต่อในอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ นอกจากนี้ยังรวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์

โดย SET ได้แบ่งหมวดธุรกิจออกเป็น 5 กลุ่มย่อย ดังนี้ครับ

4.1 ยานยนต์(Automotive)

ประกอบด้วยผู้ประกอบธุรกิจ

  • ผลิตหรือประกอบรถยนต์ และยานยนต์ประเภทต่าง ๆ
  • ผลิตต้วแทนจำหน่ายหรือประกอบชิ้นส่วนหรืออะไหล่รถยนต์
  • ให้บริการซ่อมบำรุงรถยนต์
  • จัดจำหน่าย และเป็นศูนย์จำหน่ายรถยนต์ทั้งมือหนึ่งและมือสอง

(สินค้าอุตสาหกรรมยานยนต์บางประเภท เช่น ยางรถยนต์ มีสินค้าเกษตร คือ ยางพารา อยู่ใน value chain ครับ)

4.2 วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร (Industrial Materials & Machine)

ประกอบด้วยผู้ประกอบธุรกิจ

  • ผลิตและจำหน่ายเครื่องจักร เครื่องมือทุกชนิด ทั้งเครื่องจักรกลหนักหรือเบา
  • อุปกรณ์หรือส่วนประกอบพื้นฐานของเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น สายไฟ หลอดไฟ ฉนวนไฟฟ้า มอเตอร์ต่าง ๆ
  • วัตถุดิบที่ใช้ได้ในหลายอุตสาหกรรม
  • ยกเว้น บริษัทที่ผลิตเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ได้เฉพาะ ในหมวดธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งโดยไม่สามารถใช้กับ การผลิตสินค้าในหมวดอื่นได้เลย

(สินค้ากลุ่มนี้บางประเภท เช่น ผ้าทอ ก็มีสินค้าเกษตร อยู่ใน value chain ครับ รวมถึงเครื่องจักรกลที่เป็นปัจจัยการผลิตของธุรกิจเกษตร ก็อยุ่ในกลุ่มนี้ครับ)

4.3 บรรจุภัณฑ์ (Packaging)

ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ หรือส่วนประกอบบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ และไม่ได้จัดไว้ในหมวดธุรกิจอื่น ๆ

(กลุ่มนี้ พวกกระดาษบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ก็ผลิตมาจากธุรกิจเกษตรได้ครับ)

4.4 กระดาษและวัสดุการพิมพ์ (Paper & Printing Materials)

ผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่าย

  • เยื่อกระดาษ กระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษทุกชนิด
  • หมึกสำหรับใช้ในการพิมพ์ต่าง ๆ

(กลุ่มนี้ พวกกระดาษก็มีธุรกิจเกษตรอยู่ใน value chain ครับ)

4.5 ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (Petrochemicals & Chemicals)

ผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่าย

  • สินค้าในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เม็ดและผงพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติกขึ้นรูปต่าง ๆ
  • สารเคมี เคมีภัณฑ์พื้นฐาน เคมีภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช
  • ยกเว้น การผลิตสินค้าพลาสติกขึ้นรูปเพื่อเป็นอุปกรณ์ ชิ้นส่วนหรือเครื่องประกอบของสินค้าขึ้นสุดท้าย หรือกลุ่มสินค้าใดเป็นการเฉพาะ

(ปัจจัยการผลิตของธุรกิจเกษตร เช่น ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช จัดอยู่ในกลุ่มนี้ครับ)

4.6 เหล็ก และ ผลิตภัณฑ์โลหะ (Steel and Metal Products)

ผู้ผลิต แปรรูป หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก โครงสร้างเหล็ก รวมถึงผลิตภัณฑ์โลหะที่มีส่วนประกอบจากเหล็ก เป็นส่วนใหญ่

(กลุ่มนี้ไม่เกี่ยวกับธุรกิจเกษตรครับ)


จะเห็นว่าถึงแม้กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ในบันทึกนี้ คือ สินค้าอุปโภคบริโภค, การเงิน และ อุตสาหกรรม ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเกษตรโดยตรง แต่มีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเกษตรในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะมีเกษตรกรเป็นลูกค้า (อ่าน Business Model ที่มีเกษตรกรเป็นลูกค้า) หรือมีธุรกิจเกษตรอยู่ใน value chain ครับ

มาถึงตรงนี้จบไปแล้ว 4 กลุ่ม ไว้มาอ่านการจัดกลุ่มอีก 4 กลุ่มที่เหลือและความเกี่ยวข้องกับธุรกิจเกษตรในบันทึกตอนต่อไปครับ

63636363636363636363636363

อ่านมาถึงตรงนี้ก็ต้องขอบคุณผู้อ่านมากครับ เรื่องการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมของ SET เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องการลงทุน (investment) ซึ่งยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจกว่านี้อีกมาก ถ้าอยากอ่านเรื่องอื่นของการลงทุน เรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ รวมถึงเรื่อง ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) และการสร้างคุณค่า value proposition design, business model เพิ่มเติม สามารถอ่านได้จากหน้าสารบัญ 

หากผู้อ่านอยากรู้เรื่องการลงทุนแบบลึกซึ้ง สามารถติดต่อผู้เขียนเรื่องฝึกอบรมหรือการทำ workshop ได้ โดยสามารถดูรายละเอียดช่องทางการติดต่อผู้เขียนได้ที่ About ครับ


โสภณ แย้มกลิ่น (Sophon Yamklin) Avatar

References: