เคยสงสัยไหมครับ ว่าอุตสาหกรรมในโลกนี้ แบ่งออกได้เป็นกี่กลุ่ม กี่ประเภท อะไรบ้าง วันนี้มาทำความรู้จักมาตรฐานการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมตลาดหลักทรัพย์ หรือตลาดหุ้น ว่าหุ้นตัวนี้ควรจัดอยู่ในกลุ่มไหน นั้นคือมาตรฐาน GICS ว่า GICS คืออะไรกันครับ
1. GICS คืออะไร
The Global Industry Classification Standard (GICS) คือ มาตรฐานการจัดกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้การจัดหมวดหมู่ประเภทอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน
GICS พัฒนาขึ้นครั้งแรกในปี 2542 โดยบริษัท 2 บริษัท คือ Morgan Stanley Capital International (MSCI) และบริษัท Standard & Poor’s (S&P) ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก เกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และการจัดทำดัชนีต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกเป็นหลัก
ดังนั้น การจัดกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ จึงเน้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดกลุ่มหลักทรัพย์ต่างๆ เช่น หุ้นตัวนี้อยู่ในกลุ่มไหน? อุตสาหกรรมอะไร หรือถ้าเราทำดัชนีต่างๆ เช่น ดัชนีหุ้นภาคเกษตร เราจะเอาหุ้นตัวนี้ไปอยู่ในกลุ่มนี้ด้วยไหม จึงเป็นที่มาของการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมครับ
2. GICS จัดกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างไร
GICS จัดประเภทอุตสาหกรรมออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้
- ระดับ Sector แบ่งได้เป็น 11 Sectors
- ระดับ Industry Group แบ่งได้เป็น 25 Industry Groups
- ระดับ Industry แบ่งได้เป็น 74 Industries
- ระดับ Sub-Industry แบ่งได้เป็น 163 Sub-Industries
สรุปคือ GICS แบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นตามแนวพิรามิดคือ แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ แล้วแตกย่อยๆ ให้ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ แนวเดียวกับ ISIC
(อ่าน ISIC คืออะไร เพิ่มเติมได้ครับ โดยเทียบระหว่าง GICS กับ ISIC แล้ว ISIC จะมีการจัดกลุ่มที่ละเอียดกว่า เนื่องจากเป็นการจัดกลุ่มที่เน้นเกือบทุกกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ ไม่จำกัดเฉพาะตลาดหุ้น)
3. การแบ่งประเภทอุตสาหกรรม GICS
เราลองมาดูการจัดกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด คือการแบ่งอุตสาหกรรมออกเป็น Sector ว่า 11 Sectors ประกอบด้วยอะไรบ้าง
- พลังงาน (Energy)
- วัสดุ (Materials)
- อุตสาหกรรม (Industrials)
- สินค้าอุปโภคบริโภคฟุ่มเฟือย นอกเหนือจากปัจจัยพื้นฐาน (Consumer Discretionary)
- สินค้าอุปโภคบริโภคปัจจัยพื้นฐาน (Consumer Staples)
- สุขภาพ (Health Care)
- การเงิน (Financials)
- เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology)
- บริการด้านการสื่อสาร (Communication Services)
- สาธารณูปโภค (Utilities)
- อสังหาริมทรัพย์ (Real Estate)
ซึ่งแต่ละ Sector ก็จะมีเลขรหัสของตนเอง และจะแบ่งประเภทในขั้น Industry Group ได้อีกเป็นอย่างละ 2 บ้าง 3 บ้าง แล้วก็แตกย่อยออกไปเรื่อยๆ ในขั้น Industry และ Sub-Industry ครับ
ขอยกตัวอย่างให้ดู 1 Sub-Industry คือ กลุ่มสินค้าและบริการทางการเกษตร (Agricultural Products & Services) ว่าอยู่ในหมวดหมู่ใด
กลุ่มสินค้าและบริการทางการเกษตร (Agricultural Products & Services)
- Sector: รหัส 30 Consumer Staples (สินค้าอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐาน)
- Industry Group: รหัส 3020 Food, Beverage & Tobacco (อาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ) ปล. ยาสูบจำเป็นตรงไหน?
- Industry: รหัส 302020 Food Products (ผลิตภัณฑ์อาหาร)
- Sub-Industry: รหัส 30202010 Agricultural Products & Services (สินค้าและบริการทางการเกษตร)
จะเห็นได้ว่าสินค้าด้านเกษตรถือว่าอยู่กลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่ (Sector) คือ สินค้าอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐาน
อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Group) คือ กลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ
อยู่ในอุตสาหกรรม (Industry) ผลิตภัณฑ์อาหาร
และ อยู่ในอุตสาหกรรมย่อย (Sub-Industry) คือ สินค้าและบริการทางการเกษตร ครับ
4. เกณฑ์ในการแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรม
GICS ใช้เกณฑ์ในการจัดว่าบริษัทไหนอยู่ในอุตสาหกรรมไหน โดยดูจากหลักดังนี้ครับ
– รายได้ (Revenue) มากกว่า 60%
เอาง่ายๆ รายได้มาจากอุตสาหกรรมไหน ก็ถือว่า บริษัทนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมนั้นครับ โดยเกณฑ์ที่ GICS ใช้คือ กิจกรรมด้านธุรกิจที่สร้างรายได้มากกว่า 60% ของรายได้บริษัท ก็ถือว่าบริษัทนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมนั้น
– ถ้าไม่มีกิจกรรมไหนรายได้เกิน 60% เอากิจกรรมที่มีสัดส่วนรายได้มากที่สุด
ถ้าบริษัทมีรายได้จากหลายกิจกรรม แล้วไม่มีอันไหนเกิน 60% เช่น กิจกรรม A ทำรายได้ 40% กิจกรรม B ทำรายได้ 25% ก็ถือว่าบริษัทนี้อยู่ในอุตสาหกรรมของกิจกรรม A ถ้าจัดกลุ่มรายได้ไม่ชัดเจน ก็จะดูเกณฑ์กำไรแทน
– ถ้ารายได้มาหลายกลุ่มมาก จัดเป็นประเภทกลุ่มบริษัท (Conglomerates)
ยกตัวอย่างเช่น บริษัท GE ทีทำหลายธุรกิจมากตั้งแต่ ธุรกิจการบิน พลังงาน พลังงานสะอาด สินค้าทางการแพทย์ เป็นต้น จะถูกจัดกลุ่มอยู่กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรม Industrial Conglomerates
– ถ้าจัดอะไรไม่ได้ จะอยู่ที่การวิเคราะห์ต่อไป
ถ้าบริษัทไหนไม่รู้จะจัดกลุ่มไหน ทาง GICS ก็จะวิจัยและวิเคราะห์ว่าบริษัทนี้ควรอยู่กลุ่มไหนครับ
ตัวเลขรายได้ต่างๆ เพื่อใช้ในการจัดกลุ่มอุตสาหกรรม GICS จะนำมาจากรายงานประจำปีของบริษัทต่างๆ ดังนั้น บริษัทที่ถูกจัดลำดับใน GICS จึงเป็นบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศต่างๆ เท่านั้น ที่ถูกจัดกลุ่มโดย GICS ครับ
แต่ ถ้าเราทำงานอยู่ในบริษัทเล็กๆ ของเรา เราสามารถจัดกลุ่มบริษัทเราเองก็ได้โดยดูจากเกณฑ์การจัดกลุ่ม GICS นี่แหละครับว่าบริษัทเราอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอะไร
5. สรุป
The Global Industry Classification Standard (GICS) คือ มาตรฐานการจัดกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้การจัดหมวดหมู่ประเภทอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน
GICS พัฒนาขึ้นเพื่อใช้จัดกลุ่มของหุ้นว่าหุ้นกลุ่มนี้ควรอยู่กลุ่มไหน เวลานำไปคำนวนดัชนีต่างๆ จะได้มีหลักการและมาตรฐานในการจัดกลุ่ม โดยผู้อ่านสามารถอ่านกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งหมดได้ที่ reference ด้านล่างเลยครับ
เราสามารถนำหลักการเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในธุรกิจได้หลายอย่าง โดยการเฉพาะพิจารณาว่าองค์กรเราอยู่ในอุตสาหกรรมใดกันแน่ เพื่อช่วยในการวิเคราะห์กลยุทธ์ธุรกิจต่อไปครับ
63636363636363636363636363
อ่านมาถึงตรงนี้ก็ต้องขอบคุณผู้อ่านมากครับ เรื่อง GICS เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องการลงทุน (investment) ซึ่งยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจกว่านี้อีกมาก ถ้าอยากอ่านเรื่องอื่นของการลงทุน เรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ รวมถึงเรื่อง ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) และการสร้างคุณค่า value proposition design, business model เพิ่มเติม สามารถอ่านได้จากหน้าสารบัญ
หากผู้อ่านอยากรู้เรื่องการลงทุนแบบลึกซึ้ง สามารถติดต่อผู้เขียนเรื่องฝึกอบรมหรือการทำ workshop ได้ โดยสามารถดูรายละเอียดช่องทางการติดต่อผู้เขียนได้ที่ About ครับ
บันทึกนี้อยู่ในซีรีย์การลงทุน (Investment) สามารถอ่านเรื่องอื่นในซีรีย์เพิ่มเติมได้จาก link ครับ
References:
Leave a Reply